AddThis

Share |

รวมนิทาน บ้านตลิ่งชัน

รวมนิทาน บ้านตลิ่งชัน
นิทานบ้านตลิ่งชันนั้น เป็นนิทานที่ท่านจิตโตเมตตาเล่าให้ฟังในช่วงเวลาสนทนาธรรม
ก่อนและหลังฝึกกรรมฐานที่บ้าน ตลิ่งชัน เดือนละ ๒ วัน คือวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ ๓ ของเดือนค่ะ
ซึ่งในการเล่านิทานนั้น ท่านจิตโตก็จะเล่านิทานไปเรื่อย ๆ เล่าบ้าง หยุดบ้าง เว้นช่วงบ้าง หรือเล่าต่อภาคสองบ้าง แล้วแต่กระแสใจของผู้ฟังในขณะนั้น
และก็จะมีการสรุปข้อคิดตบท้ายบ้าง เพื่อให้ผู้ฟังสามารถขมวดปมความคิด และกลับมาสู่เนื้อหาคำสอนจากนิทาน แต่บางครั้ง ท่านจิตโตก็ไม่ได้สรุปข้อคิดให้ แต่ปล่อยให้ญาติโยมไปคิดเอาเอง


  • พ่อ ค้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า
  • พ่อ ค้ากับพระฤๅษี
  • เศรษฐี ใจบุญ
  • พรหม แปลงกาย
  • เกาะ ลิง
  • พ่อ นก

พ่อค้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า

ถอยหลังจากนี้ไป ประมาณ ๔ อสงไขย สมัยนั้นว่างจากพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้เสด็จลงมาอุบัติในโลก แต่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นเรือนแสน ก็มีพ่อค้าสำเภาผู้มีคุณธรรมสูงคนหนึ่ง ล่องเรือแล้วถูกพายุพัดเรืออับปางไป ลูกเรือทุกคนตายหมด ยกเว้นพ่อค้าที่ไม่ตาย บุญบังคับให้ตายไม่ได้ ต้องมีชีวิตอยู่ แล้วพ่อค้าเขาก็ลอยอยู่ในทะเลโดยเกาะเศษไม้ที่แตกจากเรือ ลอยอยู่อย่างนั้นหละ เป็นแรมปีไม่ตาย คือเรือมันไปแตกอยู่ในช่วงกระแสน้ำวนที่มันวนไปวนมา อย่าสงสัยนะว่าทำไมไม่ตาย เพราะว่ามันเป็นนิทาน เพราะมันเป็นกระแสน้ำวน มันเลยไปไม่ถึงฝั่งสักที พ่อค้าก็รู้ตัวว่าตกอยู่ในกระแสน้ำวน จึงรู้อยู่แก่ใจว่า ยังไงเราคงจะต้องตาย แต่ว่าตั้งแต่แรกนั้น ท่านพ่อค้าผู้นี้ยังมีความสงสัยอยู่ภายในจิตใจอยู่ เนื่องจากพ่อค้าผู้นี้ได้เดินทางไปค้าขายในที่ต่าง ๆ แล้วก็ได้ไปพบกับคนหลาย ๆ ประเภท ท่านก็สงสัยว่า ทำไมคนเรามันจึงมีความแตกต่างกันอย่างนี้ ทำไมจึงมีความเฉลียวฉลาดแตกต่างกัน มีความต้องการต่างกัน มีความแตกต่างกันมากมายเหลือเกิน ท่านพ่อค้าผู้นี้ท่านอยากรู้คำตอบในเรื่องนี้มากเหลือเกิน กระทั่งเมื่อเรือแตก ต้องลอยคออยู่ในกลางกระแสน้ำวนในทะเลอย่างนี้ ก็ยังมีจิตคิดสงสัยติดอยู่ในใจมาโดยตลอด ว่าอยากจะมีโอกาสได้รู้ ได้เข้าใจในสิ่งที่สงสัย เขาจึงตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นมาต่อผู้อารักขามหาสมุทรทั้ง ๔ ว่า เราผู้มีจิตไม่ประทุษร้ายต่อใครด้วยถ้อยคำวาจา เราเป็นผู้ยินดีกับการให้มาโดยตลอด เราเป็นผู้รู้คุณของผู้มีพระคุณ เราผู้ปรารถนาจะรู้ความจริงในสิ่งที่เราต้องการจะทราบ หากเรามีบุญที่จะพึงรู้จักกับผู้มีบุญญาธิการ ที่จะยังให้ความปรารถนาของเรานั้นสำเร็จเป็นผลได้ ก็ขอให้เราได้หลุดพ้นจากวังวนนี้เถิด”


แล้วพ่อค้าผู้นี้ เขาก็ลอยตุ๊บป่อง ๆ ลอยไปก็ลอยวนกลับมา ลอยมาก็วนกลับไปอยู่อย่างนี้ ถามว่าพ่อค้าผู้นี้ไม่กินอะไรเลย ไม่ตายรึ ก็ตอบว่าไม่ตาย ขนาดสมัยพุทธกาลยังมีเลย ที่มีท่านที่ทำมาแต่ธรรมทาน แต่ไม่ได้ให้ทานมาในกาลก่อน ตั้งแต่เกิดมา ก็ได้กินแค่รกของตัวเองอยู่อย่างเดียว แล้วไม่ได้กินอะไรอีกเลย แต่ไม่ตาย อยู่มาได้จนบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ถึงจะได้กินอาหารมื้อแรกจากการบิณฑบาต ซึ่งแม้ขนาดออกบิณฑบาตร่วมกับพระรูปอื่น ๆ ก็ยังไม่มีพุทธบริษัทคนไหนใส่บาตรให้ท่านเลย เพราะว่ากรรมของท่านบังตาเขา ให้มองไม่เห็นบาตรของท่าน จนมีพระอรหันต์ท่านหนึ่งทรงเมตตา จับบาตรของพระรูปนี้เอาไว้ให้ชาวบ้านที่ใส่บาตรมองเห็น พระรูปนี้ถึงจะได้กินอาหารมื้อนั้นเป็นมื้อแรก จนท่านได้เข้าใจถึงความทุกข์ของการมีร่างกาย จนจบกิจเป็นพระอรหันต์ นี่ดูเถอะท่านต้องอยู่มาตั้งกี่ปี ไม่มีอะไรกิน ยังมีชีวิตอยู่ได้เลย นี่เรื่องเล็ก อยู่ในน้ำ ไม่มีกินก็ยังไม่ตาย เพราะบุญมันช่วยให้ไม่กระหายมากได้ บุญมันทำให้อิ่มเอิบ การไม่ตายนี้จึงเป็นของไม่แปลก

ต่อมาก็มีพายุลูกใหม่พัดเข้ามาอีก จนซัดเอาร่างของพ่อค้าผู้นี้ไปเกยอยู่ที่ชายหาด เขาไม่มีเรี่ยวแรงที่จะเดินต่อไป ก็เลยนอนอยู่ที่ชายหาดนั้น ก็มีเต่ายักษ์ตัวหนึ่งเดินมาเจอเขา แล้วก็นึกเอ็นดูเขา ก็เลยเอาหัวดุนร่างของพ่อค้าคนนี้ขึ้นมาบนหลัง แล้วเต่าตัวนี้ก็เดินต้วมเตี้ยม ๆ พาไปตามชายหาด และเต่าก็พาไปสู่ถ้ำ ๆ หนึ่งที่อยู่ระหว่างระดับน้ำขึ้นน้ำลง ถ้าน้ำขึ้นก็จะปิดปากถ้ำ ถ้าน้ำลงก็จะเห็นปากถ้ำ เต่าพาพ่อค้าผู้นี้ไปในช่วงที่น้ำลง แล้วก็เดินเข้าไปในถ้ำที่มีพญานาคปกครองอยู่ แล้วเต่าก็ต้องวางร่างของพ่อค้าลง ส่งพ่อค้าได้แค่นี้เพราะว่าตัวเองบุญน้อย ไม่สามารถจะเข้ามาอยู่ในเขตของผู้ที่มีบุญใหญ่ อย่างอาณาเขตของพญานาคได้ แล้วเต่าก็ทำการเคารพพญานาคแล้วบอกพญานาคในใจว่า “เรานำผู้ที่มีบุญมาสู่ท่าน ขอท่านช่วยอุปการะแทนเราด้วยเถิด” แล้ว เต่าก็เดินกลับไปด้วยน้ำตาคลอ ๆ เพราะเต่านั้นมีความผูกพันกับพ่อค้าในอดีตชาติมาก่อน ฝ่ายพญานาคที่มีกายเป็นทิพย์ที่ละเอียดสวยงาม ก็นำร่างของพ่อค้าเข้าไปข้างใน ไปหาพระราชาของพญานาค พระราชาที่เป็นพญานาคนี้ท่านชื่อว่า นาคะจิตตะ ท่านก็ทำ ให้พ่อค้าตื่นขึ้น แล้วให้นาคแปลงเป็นคน นำอาหารทิพย์มาให้ เพื่อให้ร่างกายของพ่อค้าฟื้นตัวขึ้น ก็ใช้เวลานานเป็นอาทิตย์ กว่าที่ร่างกายของพ่อค้าผู้นี้จะฟื้นตัว พ่อค้านี้เมื่อเห็นท่านผู้มีอุปการะคุณ เขาก็จะก้มลงกราบขอบพระคุณ แต่ท่านพญานาคก็กล่าวว่า อย่า กราบเราเลยท่านผู้เจริญ” พ่อค้าก็กล่าวแย้งว่า “ท่านกล่าวคำอย่างนี้ไม่ถูก ความดีเป็นสิ่งที่ควรกราบ แม้ผู้ใดกระทำต่อเราแม้เพียงเล็กน้อย เราก็สามารถจะก้มลงกราบไหว้ได้เสมอ ท่านผู้มีคุณจงอย่าห้ามเราเลย ขอให้เราได้มีโอกาสกระทำในสิ่งที่เราควรกระทำเถิด” ท่านนาคะจิต ตะก็รู้สึกซาบซึ้งในคุณธรรม ของพ่อค้าผู้มีคุณธรรมสูงผู้นี้ จึงยกบัลลังค์ของตนให้กับพ่อค้านั่ง แล้วตนเองจะนั่งลงต่ำกว่า เพราะว่าพ่อค้าเป็นผู้มีคุณธรรมที่สูงกว่าตนเอง จึงไม่ควรนั่งเสมอ แต่พ่อค้าก็กล่าวแย้งอีกว่า “ท่านผู้มีพระ คุณ จงอย่ากระทำเช่นนั้นเลย ท่านจงนั่งในที่ ๆ ควรนั่งเถิด ขอให้เรานั่งอย่างนี้เถิด” เมื่อถูกอ้อนวอนก็ต้องยอมด้วยเหตุผล ที่พ่อค้ากล่าวว่า “ท่านรู้แต่ เพียงผู้เดียว ผู้อื่นหารู้ไม่ จะทำให้ผู้อื่นตำหนิติเตียนท่านได้ ความเสื่อมก็จะเกิดกับท่านที่ได้กระทำในสิ่งที่ควรแก่ผู้ที่ไม่รู้” (หมาย ความว่า นาคตัวอื่น ๆ จะมองท่านนาคะจิตตะไปในทางที่ไม่ดี ในทางที่เสียหาย ว่าไปยอมเคารพแก่มนุษย์ ทำให้นาคที่อยู่ในปกครองของท่านนาคะจิตตะ เสื่อมความศรัทธาในตัวท่านนาคะจิตตะ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าเหตุที่ท่านนาคะจิตตะกระทำนั้น เพราะว่ามนุษย์ผู้นี้เป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงที่นาคควรจะทำการเคารพ) ซึ่ง เป็นเหตุผลที่ท่านนาคะจิตตะต้องยอมรับ หลังจากนั้นท่านก็สนทนากัน ท่านนาคะจิตตะก็ถามว่า “ท่านผู้ เจริญ ท่านเกิดมาประสงค์อะไร ท่านมีบุญอะไรจึงได้เกิดมาเป็นคน” พ่อ ค้าก็ตอบว่า “อาศัยเราเป็นผู้มีความกตัญญู กตเวทิตาหนึ่ง อาศัยเราเป็นผู้ไม่เบียดเบียนต่อสัตว์ทั้งหลายหนึ่ง อาศัยเราเป็นผู้มั่นคงในการประกอบความดีหนึ่ง อาศัยจิตของเราปรารถนาจะเรียนรู้ความจริงหนึ่ง เราจึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์” ท่าน นาคะจิตตะก็ยกมือ สาธุ ๆ แล้วถามอีกว่า “เมื่อท่านได้มาอุบัติเป็นมนุษย์แล้ว ท่านประสงค์สิ่งใดเล่า” แล้วท่านพ่อค้าผู้มีคุณธรรมสูงก็ตอบว่าเมื่อเรายังเป็นผู้อ่อนวัย เราปรารถนาจะได้เป็นผู้ดูแลเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย เราอยากจะนำสิ่งของมีค่าที่เรามีอยู่ ไปให้แก่ผู้ที่ทุกข์ยากลำบาก โดยไม่มองว่าท่านผู้นั้นเป็นใคร เรารู้จักหรือไม่ จะอยู่แดนไหน ลำบากเพียงใด ขอให้เรามีโอกาสได้เคลื่อนตัวไปพบ สิ่งที่เราได้กระทำนี้เมื่อคราวใด เราจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งมีค่าที่สุดในชีวิต มากกว่าทรัพย์สมบัติที่เรามี” ท่าน นาคะจิตตะก็ยกมือ สาธุ ๆ แล้วถามต่อไปอีกว่า “แล้วหากท่านมิอาจจะได้ทำในสิ่งที่ท่านต้องการได้อีกในชีวิต นี้เล่า ท่านจะเสียใจไหม” ท่านพ่อค้าก็กล่าวว่า “เรามิเคยจะรู้สึกความเสียใจต่อสิ่งที่เรา ตั้งความปรารถนา ว่าจะพบหรือไม่พบ หากเราจะเสียใจก็ต่อเมื่อเราล้มเหลวหรือเลิกรากับความตั้งใจของเราเสียแล้ว” ท่าน นาคะจิตตะก็ถามต่อว่า “หากท่าน ได้พบแล้วเล่า ท่านจะรู้สึกยินดีไหม” ท่านพ่อค้าก็กล่าวว่า “เราย่อมยินดีในขันติ (ความอดทน) ของเรา เราย่อมยินดีในสัจจะแห่งเรา” ท่านนาคะจิตตะก็ยกมือสาธุ หลังจากนั้นเมื่อจบการสนทนาแล้ว ท่านนาคะจิตตะก็บอกว่า “ข้าพเจ้าจะพาท่านไปส่งในที่ ๆท่านควรจะได้พบและควรจะได้อยู่” ตอนนั้นถ้ำมันปิดแล้ว เค้าก็เลยพาเดินแหวกน้ำใต้มหาสมุทร จนไปถึงสถานที่ที่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าพำนักอยู่ แล้วท่านนาคะจิตตะก็บอกว่า เรามีโอกาสส่งท่านได้เพียงแค่นี้ บุญเรามีน้อย สิ่งที่ท่านได้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ เราจะถือว่าเราเป็นผู้ที่มีบุญใหญ่ ที่ได้มีโอกาสได้ฟังถ้อยคำอันประเสริฐนี้ เราจะจำคำของท่านไว้ เพื่อไปปฏิบัติต่อในกาลเบื้องหน้า หากเราได้อุบัติเกิดมาเป็นมนุษย์อย่างท่านเมื่อใด เราจะถือคุณธรรมที่ท่านได้กระทำไว้ตลอดไป” แล้วเค้าก็โค้งตัวลง ลาไป พ่อค้าก็น้อมจิตลงมากล่าวขอบคุณและอวยพรว่า “ขอท่านผู้มีพระคุณจงได้พบกับความปรารถนาของท่านเถิด” แล้ว ก็เดินจากไป



เมื่อเดินไปไม่ไกล นัก พ่อค้าก็ได้กลิ่นหอม ๆ ของดอกไม้ในป่า พ่อค้าก็รู้ในใจได้ว่า ป่านี้เป็นที่รื่นรมย์ ต้องเป็นที่อยู่ของผู้มีบุญแน่ จึงได้มีสิ่งที่ทำให้คลายความกระสับกระส่ายได้ เพราะหากที่ป่านั้นเป็นป่าที่มีแต่ความอับเฉา ผู้มีบุญไม่อาจจะอยู่ที่นั่นได้เลย นี่คือข้อสังเกต เมื่อเขาได้กลิ่นหอมของดอกไม้ในป่า ก็รู้ได้เลยว่า อีกไม่ช้า เค้าจะได้พบกับผู้ที่มีบุญใหญ่ แต่ตอนนี้เป็นเวลาที่พลบค่ำแล้ว จึงไม่ควรที่จะเดินเข้าไป เขาจึงหาที่พักอาศัยก่อน แล้วจึงยกมือขึ้นกล่าววาจาไป ๔ ทิศว่า“ท่าน องค์ใดก็ตามที ที่ท่านมีคุณอันประเสริฐ อยู่ ณ สถานที่นี้ก็ตามที อยู่นอกสถานที่นี้ก็ตามที เราเป็นผู้ที่มีจิตยังหยาบโลน เป็นผู้ที่มีความรู้น้อย ขออาศัยที่นี่เป็นที่พักผ่อน ขอท่านเมตตาสงสาร ปกปักษ์อารักขาเราเถิด ขอให้ท่านเมตตายินดีต่อสิ่งที่เรามาเถิด ขอให้ท่านจงเป็นมิตรต่อเราเถิด จงอย่าได้ประทุษร้ายต่อเราเถิด” แล้ว ยกมือไหว้ไป ๔ ทิศ แล้วจึงล้มตัวลงนอนอย่างเป็นสุข แล้วตอนเช้า เขาก็เริ่มเดินไปยังที่พักที่เห็นรำไร ว่ามีสมณะผู้มีศีรษะอันเกลี้ยงเกลา ผู้มีผิวพรรณอันผ่องใส ผู้มีแววตาอันเมตตาหาประมาณมิได้ ผู้ห่มผ้าสีอันโศก (สีกรัก สีเศร้าหมอง) ท่านกำลังขบฉันอาหาร ท่านพ่อค้าก็จึงอยู่ห่าง ๆ ทำความเคารพอยู่แต่ไกล ไม่กล้าเข้าไปรบกวน สมณะรูปนั้นทรงเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า (พระผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยองค์เอง แต่ว่าไม่ทรงสอนพุทธบริษัทเหมือนพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน) ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ จงมาดูเราบริโภคอาหาร”แล้วท่านก็ทรงยื่นบาตรให้พ่อค้า ดู แล้วเขาก็เห็นว่าในบาตรนั้นมีเศษใบไม้ รากไม้และผลไม้ที่หล่นมาจากต้นช้ำ ๆ แค่นั้นอยู่ในบาตร พ่อค้าก็ถามว่า “พระ คุณเจ้า ทรงบริโภคเพียงเท่านี้หรือ?”พระองค์ก็ทรงตรัสว่า เราบริโภคอย่างนี้เป็นปกติ” “ทำไมพระคุณเจ้าจึงมีผิวพรรณอันผ่องใส แววตาเปล่งประกาย” พ่อค้าถาม “เราบริโภคธรรมต่างหาก เราไม่ได้บริโภคสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นเรื่องของร่างกายที่มันบริโภค เราไม่ได้อยากให้ร่างกายบริโภค เราไม่วิตกกับร่างกายที่บริโภค เราไม่โหยหาสิ่งที่ร่างกายต้องการเพื่อการบริโภค แต่จิตของเราบริโภคธรรมอันประเสริฐแล้วอยู่เป็นเนืองนิตย์” (หมาย ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นทรงบริโภคธรรมะเป็นปกติ ส่วนพวกเศษใบไม้ รากไม้ ผลไม้ช้ำ ๆ นั้น ร่างกายของพระองค์เท่านั้นที่บริโภค แต่จิตใจของท่านไม่ได้บริโภคสิ่งเหล่านี้เข้าไป ซึ่งนี่เป็นคุณธรรมพิเศษของพระผู้บำเพ็ญความเพียรมาจนครบสิ้นแล้ว สามารถแยกกายและจิตออกจากกันได้) พ่อค้าก็ก้มลงกราบด้วยความสนิทใจว่า เราพบแล้ว เราพบผู้รู้แล้ว สิ่งที่เราต้องการจะรู้ คงไม่เกินวิสัยของผู้รู้ที่จะตอบแก่เราได้ แต่เวลานี้ไม่เหมาะที่จะถามต่อพระองค์ท่าน พ่อค้าก็เลยยกมือขึ้นแล้วพูดว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายน้ำแก่พระคุณเจ้า” แล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ตอบว่า “เชิญ เถิดท่านผู้เจริญ” แล้วเขาก็ออกเดินไปทั่ว พยายามหาน้ำที่ดีที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด ที่จะถวายต่อผู้ที่มีความดีสูงสุด เขาเที่ยวตระเวนหาน้ำที่เขาพึงพอใจ จนกระทั่งเขาคิดว่า ไม่มีน้ำอะไร ที่จะเหมาะสมที่จะถวายต่อความดีของพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เลย หากเราจะไม่นำเอาสิ่งที่เราต้องการไปถวายต่อองค์ท่าน ก็ขึ้นชื่อว่าความปรารถนาของเราที่ตั้งใจไว้ เราก็ทำไม่สำเร็จ แต่หากเราจะเอาน้ำที่ไม่เต็มหัวใจของเราไปถวาย ก็ขึ้นชื่อว่าความปรารถนาของเราก็ไม่สำเร็จ พ่อค้าก็เลยคิดต่ออีกว่า น้ำ เหล่านี้ก็เหมือนเศษใบไม้ รากไม้ ผลไม้ช้ำ ๆ ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านได้ฉันนั่นเอง สิ่งที่พระองค์ท่านจะได้ฉันจากเราก็คือน้ำจากจิตใจของเรา ที่ได้มีกับพระองค์ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ น้ำจากลำธารตรงนี้คงจะบริสุทธิ์เพียงพอแล้ว เขาจึงตักน้ำจากลำธารปกติ นี่หละไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระองค์ก็ทรงตรัสว่า ท่านคิดถูกแล้ว สาธุ คิดถูกแล้ว” เมื่อ พระองค์ทรงฉันเสร็จ ก็ทรงตรัสถ้อยคำอันเป็นพุทธคาถา ที่แปลออกมาเป็นภาษาเรา ๆ ได้ว่า “จิตผู้ติดอยู่กับความสุข จิตนั้นหาหลุดพ้นจากความทุกข์ไม่ จิตผู้ติดอยู่ในความทุกข์ มีโอกาสพ้นทุกข์ไม่ จิตผู้ไม่ติดสุขและก็ไม่ติดทุกข์ ย่อมพบความสุข” แล้ว ก็ทรงอุ้มบาตร แล้วพ่อค้าก็กล่าวขออนุญาตว่า “ขอ ให้กระผมได้มีโอกาสอุปัฏฐากพระองค์สักครั้งเถิด” แล้วเขาก็นำ บาตรไปเช็ดล้าง ในระหว่างที่เขาเช็ดบาตร เขาก็ทบทวนในคำตรัสที่พระองค์ทรงตรัสว่า จิตผู้ติดสุขไม่อาจจะพ้นจากความทุกข์ จิตผู้ติดทุกข์ย่อมพ้นจากความทุกข์ไม่ จิตผู้ไม่ติดสุขและทุกข์ย่อมพบความสุข แล้วท่านก็เช็ดถูบาตรไปเรื่อย แล้วก็ถามตัวเองว่าเราติดสุขไหม เราติดทุกข์ไหม ต้องติดแน่ ต้องติดถึงได้มาที่นี่ ติดในความคิดว่าสิ่งที่ตนเองจะได้รับคำตอบนั้น คือความสุข ติดที่จะคิดว่า สิ่งที่มันยังติดค้างคาอยู่ในใจนั้น เมื่อหลุดพ้นออกไปได้นี้คือความสุข แต่ตัวพ่อค้านั้นไม่ได้ติดในเรื่องการกินการอยู่ การมีการใช้ที่คนอื่นเขาสุข อันนี้ไม่ได้ติด แต่ติดในธรรม ติดในสิ่งที่ในใจเรากำลังครุ่นคิดอยู่ ให้มันหลุดออก อันนี้ติดอยู่ ที่คิดว่าเมื่อเราเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการแล้ว เราคงเป็นสุข แต่มันไม่ใช่ความสุข เขาก็เลยคิดว่าถ้าหากต้องการให้จิต เราเป็นสุข เราไม่ควรติดสุข คือไม่ติดในความปรารถนาที่จะทำให้จิตของตนนั้นรู้ การปล่อยความอยากรู้ ปล่อยความอยากคิดหาเหตุหาผล ปล่อยความต้องการสิ่งที่เป็นความปรารถนาเสียให้สิ้น เราก็จะไม่ต้องวุ่นวายกับความสุข เมื่อนั้นเราจะเป็นผู้ที่ไม่สุข และ คิดต่อไปว่าเราเป็นผู้ที่ไม่ทุกข์ใช่ไหม เราก็ยังเป็นทุกข์อยู่ เพราะที่เรามาถึงยังที่นี่ ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ภายในใจของเรา มันมีสิ่งที่ต้องคอยหา คอยคิด คอยที่จะทำสิ่งที่เกิดสุข ที่เราทุกข์เพราะเราอยากให้สิ่งที่เราต้องการนั้นมันเกิดผล ถ้าเราไม่ทำ ความทุกข์ก็ไม่จำเป็นต้องละ เมื่อเราไม่ติดสุข เราก็ไม่ติดทุกข์แน่นอน พอ ท่านเข้าใจแล้ว ท่านก็จึงตัดสินใจได้ว่า เราจะไม่คิดถามคำถามที่ติดค้างอยู่ในใจของเราอีกต่อไปแล้ว เมื่อเช็ดบาตรเสร็จก็นำไปถวายต่อพระปัจเจกพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์แล้วตรัสว่า ขอให้ลูกจงได้ดำเนินจิตของลูกต่อไป”เมื่อ ให้พรเสร็จ ท่านก็ตรัสต่ออีกว่า เธอจงตั้งใจไปบำเพ็ญความตั้งใจของเธอให้สมบูรณ์เถิด ณ เบื้องหน้า” แล้วพระองค์ก็ทรงเสด็จจากที่นั่นไป


ถ้าเราไม่ติดสุข เราก็ไม่ต้องคิดเรื่องทุกข์ เราทุกข์เพราะอยากสุขนั่นเอง
Posted by Mr.Phrase on 05/08 at 12:52 AM
(0) Comments • (0) TrackbacksPermalink

พ่อค้ากับพระฤๅษี

ในยุคสมัย ที่ยังมีการเล่นแร่แปรธาตุกันอยู่นั้น ก็มีฤๅษีอยู่องค์หนึ่งที่สามารถเสกทองได้ อยู่มาวันหนึ่งมีพ่อค้าคนหนึ่งทำการค้าขายมาแล้วถูกโจรปล้นไปจนหมดเนื้อหมด ตัว เขาก็มาพบพระฤๅษี พระฤๅษีก็เห็นใจชายหนุ่มคนนี้เพราะรู้ว่าถ้าหากเขาไม่มีเงินทองกลับไป ภรรยา ลูกเต้า พ่อตาแม่ยายที่เขาอุปการะอยู่ก็คงจะรุมด่าว่าเขา และตัวเขาก็เป็นห่วงคนที่บ้านเขา กลัวว่าจะลำบาก ตัวเขาเองก็เศร้าโศกเสียใจ เมื่อเขามาขอความช่วยเหลือจากพระฤๅษี พระฤๅษีก็ถามเขาว่าต้องใช้เงินเท่าไร เขาก็ตอบว่า ถ้านับเป็นเงินก็ ๑๐ กำปั่น ถ้านับเป็นทองก็ ๒ กำปั่น กำปั่นหนึ่งมีน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ กก. พระฤๅษีก็บอกว่า ไม่ยากหรอกนะ แต่เธอต้องเข้าไปในป่า ไปเอากล้วยมานะ เอามาเยอะ ๆ ” เขาก็เข้าไปขนกล้วยในป่ามาให้พระฤๅษี คิดอยู่ในใจว่าถ้ายิ่งนำกล้วยมามากเท่าไร ก็จะยิ่งได้เงินทองมามากเท่านั้น พระฤๅษีก็บอกให้เขารอที่ปากถ้ำ ภายใน ๗ วันห้ามเข้าไปในถ้ำ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าพระฤๅษีทำอะไร แต่ว่าพอครบกำหนด ๗ วัน พระฤๅษีก็มาบอกให้เขาเข้าไปขนทองออกมา ก็เป็นจำนวน ๒ กำปั่น กลับเอาไปบ้าน แต่ว่าก่อนกลับ พระฤๅษีได้กำชับเขาไว้ว่า ห้ามไปเล่าให้ใครฟังว่า ได้ทองมาอย่างไร แต่ว่าคนเราหนะมันอดเม้าท์ไม่ได้ มันอึดอัด เดี๋ยวอกอีแป้นจะแตก ดังนั้นเมื่อเขากลับไปบ้านได้หลาย ๆ วันแล้ว เขาก็รู้สึกอัดอั้นมาก เวลานอนก็กระสับกระส่าย อยากจะพูดเต็มที ภรรยาเขาก็ถามว่าเป็นอะไร ทำไมนอนไม่หลับมาหลายคืนแล้ว ฝ่ายสามีก็ลังเลใจ จะพูดดีหรือไม่พูดดี ฝ่ายภรรยาก็เลยตบพลั้วะเอา เพราะนึกว่าสามีไปนอกใจมีเมียน้อย สามีก็รีบอธิบายใหญ่ว่าไม่ใช่ แล้วจึงเล่าเรื่องพระฤๅษีเสกทองให้ภรรยาฟัง แล้วก็กำชับว่า อย่าไปบอกใครนะ ฝ่ายภรรยาก็เมื่อได้ฟังแล้ว ทีแรกก็เก็บเอาไว้ ไม่ยอมเล่า แต่พอนาน ๆ เข้าก็อยากจะเล่า ก็มีอาการเหมือนสามี คือ กระสับกระส่าย อยู่ไม่เป็นสุข พ่อก็ถามไถ่ว่าเป็นอะไร เพราะเห็นอาการกระสับกระส่ายของลูกสาว ลูกสาวเธอก็บอกว่า “ไม่มีอะไรหรอกจ้ะ ฉันมีเรื่องที่อยากจะเล่า แต่สามีเขาห้ามฉันเอาไว้ ไม่ให้เล่าให้ใครฟัง” ฝ่าย พ่อกับแม่ก็กระทุ้งไปกระทุ้งมา สุดท้ายก็เล่าออกมาเสียหมดเปลือกเลย ทีนี้เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ฝ่ายพ่อเมื่อรู้เรื่องเข้า ก็ไปหาลูกเขยบอกว่าให้พาไปหาพระฤๅษี เราจะขนกล้วยไปขอให้ท่านเสกทองมาให้ ก็ขนกล้วยไปเต็มเกวียนใหญ่ ๆ เลย ฝ่ายลูกเขยก็ทนรบเร้าไม่ได้ ก็พาไป พอไปถึงปั๊บ เขาก็บอกให้พ่อตาคอยอยู่ก่อน ตัวเขาจะเข้าไปดูว่าพระฤๅษีอยู่หรือไม่ เขาก็เข้าไปพบกับพระฤๅษี ท่านก็ร้องถามว่า มาทำไม มีเรื่องเดือดร้อนอะไรอีกหรือ” เขาก็ตอบว่า ผมมีเรื่องเดือด ร้อนมาครับ ความลับแตกแล้วขอรับ พ่อตาขนกล้วยมา ๓ เกวียนขอรับ จะมาขอให้เสกเป็นทองให้หน่อย” พระฤๅษี ท่านก็บอกว่า เออ ๆ ๆ มา ๆ ๆ แต่มีข้อแม้นะ ว่าต้องให้พ่อตาของเอ็งขนกล้วยคนเดียวหมดทั้ง ๓ คันรถเลยนะ” แล้วพ่อตาก็ยอมรับปากขนกล้วย เรื่องเล็ก ๆ ระหว่างขนกล้วย แกก็ท่องไปเรื่อย นับไปเรื่อย ทอง ๑ กำปั่นแล้ว ๒ กำปั่นแล้ว ไปเรื่อย ๆ ของแก พอแกขนกล้วยหมดไป ๑ คัน เรี่ยวแรงแกก็ยังดีอยู่ แต่พอเริ่มคันที่ ๒ ชักจะไม่ไหว พอใกล้จะหมดคันที่ ๒ เท่านั้นหละ แขนขาแกก็หมดเรี่ยวแรง พับเพียบแปร้ ลุกไม่ได้ เป็นอัมพาตไป เพราะความโลภอยากได้ ฝ่ายพระฤๅษีนั้นท่านถือสัจจะวาจาเป็นสำคัญ ถ้าตกลงกันไว้ว่าจะทำโดยมีเงื่อนไขอย่างไหน ก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ พระฤๅษีท่านก็เลยบอกว่า “เราทำให้ไม่ได้หรอกนะ เพราะว่าพ่อตาของเอ็งไม่สามารถจะทำตามคำพูดที่ตกลงกันไว้ได้ พาเขากลับไปเถอะ” ลูกเขยก็พาพ่อตากลับไป
พอกลับไปถึงบ้าน พ่อตาก็ไปเล่าเรื่องพระฤๅษีให้ทุกคนฟัง ทุกคนที่ได้ฟัง ก็รุมด่าพระฤๅษีอย่างนั้นอย่างนี้ ด่าว่าท่านเสีย ๆ หาย ๆ ซึ่งผลจากการพูดจาให้ร้ายผู้มีพระคุณนี้ (พระฤๅษีมีพระคุณที่ช่วยเสกทอง ๒ กำปั่นให้ชายผู้นี้นำมาจุนเจือครอบครัวของเขา แต่ว่าคนในครอบครัวของเขากลับพูดจาไม่ดีต่อพระฤๅษี) มันส่งผลให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทรัพย์สินของพวกเขาก็ค่อย ๆ สลายหายไป ชั่วระยะเวลาไม่ถึงปี เงินที่เขามีจากการทำมาค้าขายก็หายไปหมด เหลือแต่ตัวเท่านั้น บ้านก็ต้องขายไป ไม่มีที่อยู่ คนในครอบครัวบางคนก็ต้องถือกระเบื้องหัก ๆ ขอทานเขากิน บางคนก็เข้าไปในป่าหากิ่งไม้มาเผาเป็นฟืนไปขายในตลาด อีกคนก็เดินไปเก็บเศษข้าวเปลือกที่ร่วงตกอยู่บนพื้นมากิน บางคนก็หนีไป ไม่อยู่ด้วย ไป ๆ มา ๆ ทุก ๆ คนก็ทรุดโทรมลง หมดกำลังใจในการต่อสู้หาเลี้ยงชีวิต ยกเว้นแต่ตัวลูกเขยเท่านั้น ที่ยังมีกำลังเรี่ยวแรงในการทำมาหาเลี้ยงดูพ่อตาแม่ยายด้วยความกตัญญู คอยทำมาหาเลี้ยงคนในบ้าน แม้กระทั่งพ่อตาที่เป็นอัมพาต เขาก็ยังหาเลี้ยง คอยดูแลอยู่ตลอด คนไหนทำอะไรไม่ไหว เขาก็มาช่วยตลอด ตอนเย็นก็มาช่วยพาพ่อตากลับบ้าน

แต่คนเหล่า ๆ นี้ก็ไม่วายที่จะตำหนิติเตียนพระฤๅษีอยู่ตลอด ว่าพระฤๅษีเป็นต้นเหตุ พระฤๅษีเป็นคนใจร้าย เป็นคนทุศีล ไม่ช่วยเหลือกันเลย แต่ลูกเขยก็บอกอยู่ตลอดว่า อย่ากล่าววาจาที่เป็นโทษต่อเราแบบนี้อีกเลย พอเถิด เพราะความโลภของพวกเราแท้ ๆ ที่ทำให้เราฉิบหายแบบนี้ แล้วพวกเขาก็มาต่อว่าว่า
“อย่ามาแก้ตัวแทนพระฤๅษี มึงหนะตัวดีนัก ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน ทำให้ทรัพย์สินต้องสูญหายไป เรื่องมันถึงได้เป็นแบบนี้ ๆ” ตาลูกเขยก็คิดว่า คนเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเกื้อกูลอุปถัมภ์ ความดีสักนิดก็ไม่มีอยู่ในใจของเขา เราจะมาอยู่ทรมานแบบนี้เพื่อคนเลวอย่างนี้ไปทำไมกัน สิ่งที่เราทำมามันก็มากพอควรแล้ว เขาก็เลยตัดสินใจที่จะเดินจากออกมา




เมื่อเขาเดินจากออกมาแล้ว เขาก็คิดได้ว่า ถึงอย่างไร เขาก็ควรที่จะไปกราบขอบพระคุณพระฤๅษีสักครั้งหนึ่ง ก่อนที่เขาจะออกเดินทางไปอย่างไม่รู้ทิศทาง เมื่อเขาเดินทางไปถึงอาศรมของพระฤๅษี พระฤๅษีก็ถามว่า “มีอะไรรึ ไม่สบายใจอะไรหรือเปล่า” ตัวเขาก็เล่าเหตุการณ์ทุกอย่างให้พระฤๅษีฟัง พระฤๅษีก็ทำท่าสลดใจ สัตว์ ทั้งหลายไม่รู้จักคำว่าอิ่มและพอแห่งตัณหา ถ้าเป็นศัพท์ของพระพุทธเจ้า ท่านก็ว่า โลก นี้ตัณหาพร่องอยู่เป็นนิตย์ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น คนโลภก็เป็นแบบนี้ ได้เท่าไรก็ยังโลภ ได้น้อยก็จะเอามาก ได้แล้วไม่ได้ดังที่ตัวเองคิด ก็โทษตำหนิติเตียนผู้อื่น นี่อย่างนี้เป็นคนพาลไหมหละ คนอย่างนี้ไม่ควรคบ คนอกตัญญูหนึ่งไม่ควรคบค้าสมาคม พอฟังอย่างนั้นแล้วพระฤๅษีก็ถามว่า แล้วเธอ จะไปที่ไหนหละ”เขาก็ตอบว่า “ผม ไม่มีทางไป ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน ผมรู้แต่ว่า ผมอยากสงบ อยากจะอยู่อย่างที่ท่านเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อช่วยแนะนำผมด้วย” พระฤๅษีก็แย้มปากน้อย ๆแล้วชี้ไปที่สระน้ำ แล้วบอกว่า “เธอจงไปที่สระน้ำ ไปชำระล้างร่างกายให้สะอาดเสียก่อน”

เมื่อเขาอาบน้ำเสร็จ พระฤๅษีก็ชี้ไปที่กล้วยที่แขวนเอาไว้ บอกว่าให้กินกล้วยเสียก่อน พอกินกล้วยไปแล้ว น้ำตาเขาก็ร่วง เพราะเขานึกถึงเรื่องในอดีต ว่าเป็นเพราะตัวเขา ที่เป็นต้นเหตุของความฉิบหายของญาติพี่น้อง เขาผิดคำพูดที่รับปากว่า จะไม่เล่าเรื่องพระฤๅษีเสกทองให้คนอื่น ๆ ฟัง ตัวเขาไม่ได้มองว่าที่เรื่องมันเกิดขึ้นแบบนี้ มันเป็นเพราะกรรมนะ แต่เขามองว่าเขาเป็นต้นเหตุความฉิบหายของหมู่ญาติ เขากินกล้วยไปก็ร้องไห้ไป เขากินเสร็จก็เดินกลับมาหาพระฤๅษี พระฤๅษีก็บอกว่า “เธอจงคิดใหม่ซะ สิ่งที่เธอคิดหนะมันเป็นความคิดของเธอ แต่มันไม่ใช่ความเห็นที่เป็นตามจริง” เขาก็คลายอารมณ์ลง และบอกว่า ผมอยากจะทราบว่าจะมีอะไรถอด ถอนความเศร้าหมองภายในใจของผมออกไปได้” พระฤๅษีก็ชี้ไปอีกแล้วบอกว่า “เธอ จงไปนั่งที่โคนหินข้างหน้าโน้น ห่างจากอาศรมนี้ไปด้านโน้นนะ มันเป็นป่าละเมาะ มันมีโขดหินอยู่นะ เธอไปนั่งคอยอยู่เถอะนะ เดี๋ยวเราจะตามไปสอน” เขาก็เดินไป พอถึงที่นั่ง เขาก็นั่ง โขดหินมันก็เย็น มีกระแสน้ำลำห้วยรินไหล เสียงก็ดังจ๊อก ๆ เขาก็เอาใจมาจดจ่ออยู่กับสิ่งแวดล้อมอันนี้ สิ่งที่เขาครุ่นคิดภายในใจมันก็เลยหายไปหมด ตัวเขาก็เพลิดเพลินไป แล้วก็หลับตาลง พอหลับตาปั๊บ มันก็มีความสว่างพรึ่บขึ้นมา เขาก็ลืมตาขึ้นมา มองหาว่าแสงสว่างนี้มาจากไหน มีใครถือโคมถือไฟมาหรือเปล่า เขาก็พบว่าไม่มีใคร แล้วเขาก็เลยนั่งหลับตาลงใหม่ ลมก็โชยพัดไปตามเรื่อง มันก็มีความสว่างโพรงขึ้นมาอีก แต่เที่ยวนี้เขามานั่งคิดอยู่ในใจว่า เรา อย่าสะดุ้ง เราอย่าสนใจ ปล่อยไปเถิด จะเกิดอะไรก็ปล่อยมันเถิด ชีวิตเรามันเกิดเรื่องมาเยอะแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่อยากไปวุ่นวายด้วยแล้ว ไม่อยากนึกถึงด้วยแล้ว ปล่อยมันเถอะ อยู่เหมือนคนแบบทอดอาลัยแล้ว ปลดเปลื้องทุกอย่าง ไม่มีข้างหน้าคืออนาคต ไม่มีข้างหลังคืออดีต แม้แต่ปัจจุบันก็เหมือนกับคนที่ไม่มีอะไรเลย ที่จะพอทำให้จิตใจมันอยู่ในที่ ๆ ควรอยู่ คือมีความสุขบ้าง สบายใจบ้าง เขาแค่ปล่อยใจว่าง ๆ ไม่คิดอะไร แต่มีอารมณ์หนึ่งที่เขาจะได้สัมผัสกับสิ่งรอบตัว มันทำให้เขาสบายใจ จิตมันก็เลยดื่มด่ำความสงบนิ่งไป แสงสว่างที่เห็นในสมาธินั้น มันก็มีอยู่เรื่อยไป จากแสงสว่างจ้าก็เปลี่ยนมาเป็นแสงที่เยือกเย็น เป็นแสงระยิบระยับ เขาก็นั่งหลับตาไม่สนใจ จะเกิดอะไรก็เกิดไปเถิด ฉันไม่สนใจ ที่สนใจอยู่อย่างเดียวก็คืออยากอยู่นิ่ง ๆ ไม่อยากจะทำอะไรแล้ว ปล่อยใจจนลืมตัวไปว่านั่งอยู่ตรงนั้นนานแค่ไหน ก็นั่งอยู่จนหินขึ้นตะไคร่หนะ นานแค่ไหนเนี่ย

ฝ่ายพระฤๅษีก็รู้อยู่แล้วว่า ชายผู้นี้เป็นผู้ที่สะสมบุญบารมีมาดีแล้วแต่มีบุพกรรมที่จะต้องเผชิญกับสิ่ง ที่ทำให้คับแค้นใจ ทรมานจิตใจ พระฤๅษีเข้าใจถึงเหตุและผลที่เขาได้กระทำอยู่นี้ จึงปล่อยให้เขากระทำไปเรื่อย ๆ อย่าว่าแต่ตะไคร่ขึ้นเลย นานจนกระทั่งเสื้อผ้าที่เขาใส่ตะไคร่ก็ยังขึ้น นานจนพระฤๅษีหนะม่องเท่งไปนานแล้ว ท่านก็ยังไม่ลุกไปจากตรงนั้นเลย

นานหนัก ๆ เข้าก็เดือดร้อนพรหมผู้เป็นพ่อมาในกาลก่อน ว่าลูกของเราตะไคร่เกาะเสียแล้ว จะอยู่อย่างนี้ให้มันเกิดประโยชน์อะไร ทำก็เหมือนไม่ได้ทำ เพราะไม่มีจุดหมาย ทำไปอย่างนั้น ปล่อยไปอย่างนั้น ไม่มีความรู้ ไม่มีความคิด ไม่มีการนึกอะไรเลย ปล่อยมันไป หมดอาลัยไปอย่างนั้น แต่ภายในของเขามันก็โพรงสว่าง เรื่องภายในไม่มีความทุกข์ใดมากระทบ เรื่องทั้งหลายไม่เข้าถึงใจ อยู่อย่างนั้นมันโพรง สว่าง สบาย มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น มันเหมือนกับคนที่ถูกเรื่องราวต่าง ๆ มากระทบเยอะแยะแล้วอยู่ ๆ ก็มาถึงจุดที่พักที่มันนิ่งสงบ มันก็ไม่อยากถอดถอนออกไปวุ่นวายเรื่องอื่น แค่นี้พอแล้ว

พรหมผู้เป็นพ่อก็ทนไม่ไหวแล้ว ลูกข้าจะนั่งนานเกินไป พรหมก็ลงมา ซึ่งในการที่จะแหวกสมาธิเข้าไปสู่จิตของคนที่ตั้งอยู่แบบนี้ ให้สะดุ้งหวั่นไหวออกมานั้นมันยากที่สุด แต่ว่าคน ๆ นี้เขามีจุดหนึ่งที่จะสะดุ้งต่อคำ ๆ เดียว ก็คือคำว่า “ไม่รักพ่อแล้วหรือ?” เสียงก็ลอดเข้าไปในสมาธิได้ ก็คลายตัวลง แล้วเขาก็มานั่งดูตัวเอง นึกว่ามานั่งอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ มาทำอะไร พรหมผู้เป็นพ่อก็เลยพูดมากลางอากาศว่า “ก็ มัวแต่นั่งอยู่อย่างนี้ซิ คนอื่นเขาไปไหน ๆ กันหมดแล้ว เขาบำเพ็ญบารมีกันจนจะเป็นพระพุทธเจ้ากันกี่องค์ ๆ กันแล้วก็ไม่รู้” พอเขาได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้าขึ้นมา จิตก็เริ่มมีจุดหมายปลายทาง สัญญา (ความจำ) เดิมมันก็ผุดออกมา ก็เลยหันกลับไปตามเสียง แต่ไม่พบใคร แล้วเขาก็นึกว่า “พระพุทธเจ้า ทำไมชื่อนี้เพราะจัง ทำไมใจเราถึงโหยหาชื่อนี้จังเลย? เราจะมีโอกาสได้พบกับบุคคลชื่อนี้ได้หรือไม่? และทำยังไงเราจึงจะได้พบกับบุคคลชื่อนี้?”

ไอ้กำลังของสมาธิหนะ ให้นั่งนานแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้มีความเมื่อยล้าเลย กลับทำให้มีกำลังวังชาเพิ่มขึ้นมาอีก เขาก็ลุกสะบัดตัว แล้วพบว่าตัวเปลือย เขาก็ลงไปชำระกายในน้ำ แล้วก็หาใบไม้ที่เป็นเยื่อมาคลุมกาย แล้วก็เดินไปยังถ้ำที่พระฤๅษีอยู่ ปรากฏว่ามีผ้าผืนใหม่กองเอาไว้ให้ มีไม้เท้าอันเก่าของพระฤๅษี เขาก็อธิษฐานขอไม้เท้านี้กับพระฤๅษีเพื่อเป็นที่ระลึก แต่ไม่เท้าอันนี้มันเป็นไม้เท้าวิเศษ มันสามารถที่จะทำให้อะไรมันเป็นไปดังใจนึกได้ เขาก็นึกในใจว่า เขาอยากจะไปที่นั่นที่นี่ เขาก็มาถึงได้ทันที เขาก็นึกรู้ว่ามันเป็นฤทธิ์จากไม้เท้าที่พระฤๅษีท่านได้ทำเอาไว้ให้ เขาก็เลยกลับไปที่อาศรมของพระฤๅษี แล้วยกมือวันทาขอบพระคุณท่าน แล้วเขาก็ยกไม้เท้าขึ้นหาทิศทางที่ตัวเองควรจะไป เมื่อจิ้มไม้เท้าลงพื้น ตัวของเขาก็จะลอยขึ้น ไม่ได้เดินบนพื้น เดินผ่านไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีสัตว์ที่ไหนมองเห็นว่าเขาเป็นศัตรูสักนิดเดียว ตัวเขาก็มุ่งหน้าเดินออกไปแสวงหาสิ่งที่เขาต้องการต่อไป

Posted by Mr.Phrase on 04/26 at 11:02 PM
(0) Comments • (0) TrackbacksPermalink

เศรษฐีใจบุญ

กาลครั้ง หนึ่งมีเศรษฐีผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง ไม่มีลูก ไม่มีภรรยา อยู่ตัวคนเดียว เศรษฐีผู้นี้มีความเมตตาต่อคนทั้งหลาย ใครเดือดร้อนก็มาหาเขา คนดีก็มาหาเขา คนเลวก็มาหาเขา ใครอยากได้อะไรก็มาหาเขา เศรษฐีนี่ก็ไม่เจาะจงว่าจะเลือกให้สิ่งของเฉพาะแก่ใคร เขาให้ใครก็ได้ คุณอยากได้อะไรก็มาเอาไป เขาทำแบบนี้อยู่หลายปีจนเป็นที่รักและเป็นที่เกลียด คือมีคนรักก็ต้องมีคนชัง คนที่ชังเศรษฐีก็เพราะว่าเศรษฐีไม่จัดสรรสิ่งของให้ ไม่ใช่ว่าให้สิ่งของไม่ทั่วถึงทุกคน แต่ว่าของบางอย่าง เขาให้แก่คนที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้ของสิ่งนั้น ในขณะที่คนบางคนจำเป็นต้องใช้ของสิ่งนั้น แต่กลับไม่ได้ เพราะว่าหมดไปแล้ว หรือว่าให้คนอื่นไปแล้ว พอคนที่จำเป็นจะต้องใช้ของสิ่งนั้นมาขอ แต่ก็กลับไม่มีให้เขา เขาก็รู้สึกไม่พอใจ นี่ขนาดของฟรีนะเนี่ย ให้ฟรี ๆ ไม่ถูกใจ มันก็โดนว่า เศรษฐีคนนี้แกใจดีเกินไป เห็นแต่ความต้องการให้ของตัวเองอย่างเดียว ไม่ได้คำนึงถึงผู้รับคนอื่น ๆ ที่อาจจะจำเป็นต้องใช้ของนั้น เศรษฐีเขาให้อย่างเดียว โดยที่เขาคิดว่าใครมาก่อนก็ได้ไป แล้วแต่บุญของคนมาขอ ตัณหา (ความอยากได้) ของใครมาก ก็มาขนเอาของไปมาก เศรษฐีเขาก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ ที่จะมา คอยจัดสรรสิ่งของให้แก่ผู้คนทั้งหลาย เศรษฐีเขาก็ทำเพียงแค่เปิดโรงทานที่เก็บสิ่งของเอาไว้ให้เท่านั้น คนในหมู่บ้านอยากได้อะไร ก็มาเอาของที่ตัวเองต้องการไป ตกเย็นหมดเวลาก็ปิดกุญแจ เช้าขึ้นมาก็เปิดกุญแจไว้ให้ ส่วนตัวเศรษฐีก็ไปค้าขาย ได้อะไรมาก็จะเอามาไว้ในโรงทานนี้ ใครอยากได้อะไรก็ไปเอา คนในหมู่บ้านเองก็มีไม่เยอะ ประมาณร้อยกว่าคน บางคนก็มีกิน มีฐานะก็มีอยู่ คนจนก็มีอยู่บ้าง ไม่ได้มากมายอะไร ก็เลยพออยู่ไปได้
อยู่มาวันหนึ่งมียายแก่ ๆ คนหนึ่ง ไม่มีลูกหลานเลี้ยง แกเดินมาจะมาเอาของไปใช้ แต่ว่ามาตอนที่ประตูโรงทานนั้นปิดไปแล้ว แกก็ได้พบกับเศรษฐีเข้าพอดี เศรษฐีก็เลยถามว่า “คุณยายทำไมเพิ่งมา?” ยายแกก็ตอบว่า “ฉันค่อย ๆ มา มันเหนื่อยจ้ะ เลยไม่ทันเวลา ท่านผู้เจริญโปรดเมตตาฉันหน่อยเถิด ฉันอยากได้ข้าว อยากได้น้ำ อยากได้ไฟ อยากได้หม้อ อยากได้ภาชนะ” เศรษฐีก็ถามว่า “ยายเอาไปหมดหรือ?” ยายแกก็ตอบว่า “มันจำเป็น ไม่มีใครดูแล ก็ต้องทำคนเดียว” เศรษฐีก็สงสารเลยชวนยายว่า “งั้นยายมาอยู่กับฉัน เถิด ในเมื่อยายไม่มีใครดูแล ฉันพอมีที่ให้พัก มีอาหารให้กิน” ยายแกก็เลยมาอยู่กับเศรษฐี

พออยู่ไปสักพัก ยายแกก็สบายขึ้น แต่ว่าปากแกไม่ดี ก็เที่ยวไปพูดโอ้อวดให้คนอื่นฟัง ถึงเวลาออกไปนอกบ้าน พอมีคนที่เขามาขอสิ่งของ แกก็พูดอวดว่า “ฉัน ไม่ต้องทำอะไรเลย เศรษฐีรับฉันไว้เลี้ยง” พวกคนอื่น ๆ ก็พากันอิจฉาบ้าง พอเกิดเรื่องขึ้นคนเหล่านั้นก็มาต่อว่าเศรษฐีว่า ทำไมรับเลี้ยงแต่ยายแก่คนเดียว พ่อแม่ฉันก็แก่เฒ่า ทำไมไม่เอาไปเลี้ยงบ้าง (เออเนอะ คนเรา เจริญพรเถอะจ้ะ ญาติโยม) เศรษฐีก็เลยบอกว่าเธอไม่เลี้ยง ฉันเลี้ยงให้ก็ได้ ถ้าเธอไม่มีใจอยากจะเลี้ยง ฉันก็จะเลี้ยงให้ แล้วเขาก็ขนคนแก่ ๆ บ้านโน้นคนนึง บ้านนี้คนหนึ่ง รวม ๆ เข้าก็เกือบ ๓๐ คนได้มาอยู่ที่บ้านเศรษฐี ทีนี้ก็เลยมีเรื่อง คนเยอะก็เรื่องเยอะ คนที่มีแต่ความอยากได้ก็สร้างแต่เรื่อง หาเรื่อง ส่วนไอ้คนที่เขารู้สึกกตัญญูต่อเศรษฐีที่ช่วยเลี้ยงดู ก็ทำตัวไม่วุ่นวาย ไม่สร้างเรื่อง แต่ก็ถูกไอ้คนอยากได้ (ตัณหามาก) มาหาเรื่อง มาพูดจาให้เจ็บช้ำน้ำใจ มาแกล้งพูดถามว่า ลูกเต้าก็มีเงิน แต่ทำไมมาอยู่นี่ หรือว่าลูกเอ็งมันเกลียดเอ็งเสียแล้ว นี่เขาว่ากระทบกันให้เสียใจแบบนี้

ส่วนเศรษฐีหนะ ตอนนี้ก็ชักจะเหลือเศษ ๆ ซะแล้ว เอ็นดูชาวบ้านช่วยเหลือเขาไปเรื่อย แต่ก็กลับได้พบแต่ความวุ่นวาย เขาก็มานั่งนึกรู้สึกว่า ทำไมมันวุ่นวาย ทำไมคนเราไม่รู้จักสร้างความสุขที่ตนเองต้องการจะมี ที่เขาให้ก็ให้ เพราะว่าเห็นว่าคนเหล่านี้มีทุกข์ก็เลยให้ ถ้ามีสิ่งของที่เขาให้เอาไปใช้ก็จะช่วยผ่อนคลายความทุกข์ความลำบากไปได้บ้าง แต่นี่กลับสร้างความวุ่นวายให้กับผู้ให้ และก็ยังสร้างความวุ่นวายให้กับคนที่อยู่ด้วยกันอีก สุดท้ายก็มีแต่เรื่อง วิธีแก้ปัญหาของเศรษฐีก็คือ ยกของทั้งหมดให้ทุก ๆ คนไปเลย แล้วเศรษฐีก็ประกาศว่า “นับแต่นี้ต่อไป พวกท่านจะไม่ได้เห็นเราอีกเลย”

พอเศรษฐีพูดจบ มันก็ไม่เห็นเศรษฐีจริง ๆ นะหละ มันเห็นแต่สิ่งของ ทรัพย์สมบัติ วิ่งกันฝุ่นตลบเลย ไปแย่งสิ่งของกัน เศรษฐีก็เลยคิดว่า “ชุดของเราเอาไปแค่นี้
หละ ผ้าสีมีแต่ความวุ่นวาย ผ้าลายมีแต่ความเปรอะเปื้อน อย่าไปอยู่อย่างเขาเลย ไปเป็นผ้าขาวเถอะ” แล้วเขาก็ห่มผ้าขาวเดินออกจากบ้านไป โดยไม่หันหลังมาอีกเลย เพราะเขาคิดว่าทรัพย์สมบัตินี้ คือสิ่งที่วุ่นวายของคนที่ไม่รู้จักพอ แล้วเขาก็เดินทางไปเรื่อย ครุ่นคิดถึงเรื่องราวที่ผ่าน ๆ ไป นึกคิดทีไรก็รู้สึกสลดใจทุกที “นี่ถ้าพวกเขา เหล่านี้มี จิตใจเมตตา โลกก็คงสงบสุขนะ เราคงไม่ต้องมาเดินอยู่แบบนี้ ถ้าโลกนี้เต็มไปด้วยความเมตตาต่อกันและกัน ไม่ว่าเราไปอยู่ตรงไหนก็คงมีแต่ความสบาย” ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เศรษฐีมาบวชเป็นพราหมณ์ แล้วก็ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “เราจะทำให้คน และสัตว์ทั้งหลายอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข”


เขาก็เดินไปเรื่อย ๆ ไปถึงที่ที่นึง ที่เป็นอาศรมของฤๅษี มีฤๅษีหลายองค์ เขาก็เดินเข้าไปในสำนักนี้เพราะเห็นว่าสงบ ปราศจากความวุ่นวายดี แล้วก็ไปคารวะฤๅษีผู้ปกครองอาศรมแห่งนั้น ก็เป็นท่านฤๅษีชราที่ผมขาวหมดทั้งศีรษะ แล้วฤๅษีท่านก็พูดว่า “ลูกเรามาแล้ว มาอยู่กับพ่อเถิด” พราหมณ์ก็เลยรู้สึกว่า อบอุ่น ที่นี่อบอุ่น เมื่อได้รับคำเชิญก็เลยพูดว่า “กระผมขออนุญาตอาศัยอยู่ที่นี่ โปรดเมตตาสั่งสอนกระผมด้วยเถิด” ท่านฤๅษีก็เมตตาถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ท่านมีให้แก่พราหมณ์ผู้นี้ แต่ว่าพราหมณ์ไม่ได้บวชเป็นฤๅษีนะ เขาบอกว่าจะเป็นฤๅษีได้ก็จะต้องเอาตัวฝังดินเอาไว้ ๗ วันก่อนนะ ถ้าขึ้นจากหลุมมาแล้วไม่ตาย ถึงจะบวชได้ เขาเรียกว่าฝึกฌานสมาบัติ พราหมณ์เลยไม่กล้าบวช

แต่ต่อมาฤๅษีก็ตายไป พราหมณ์เขาก็เลยออกจากสำนัก เดินทางต่อไป ใช้วิชาความรู้ที่ฤๅษีถ่ายทอดมาให้ ทั้งเรื่องยารักษาโรค เรื่องสมาธิ เรื่องคาถาอาคม เรื่องเรียกฟ้าเรียกฝน ห้ามฝน และด้วยความตั้งใจเดิมของเขาที่ได้ตั้งสัตยาธิษฐานเอาไว้ว่า จะช่วยให้คนทั้งหลายมีความสุข เขาก็เลยเดินทางกลับไปที่หมู่บ้านนั้นอีกครั้งหนึ่ง ได้เห็นคนเหล่านั้นก็มีสภาพเหมือนเดิม คือยากจน ลำบาก ไม่มีใครมีความสุขสบาย เหมือนกับในสมัยที่พราหมณ์ยังเป็นเศรษฐีอยู่เลย และคนเหล่านั้นก็จำเศรษฐีที่เป็นพราหมณ์ไม่ได้ด้วย พราหมณ์ก็คิดว่าดีแล้วที่ไม่มีใครจำเขาได้ แล้วพราหมณ์ก็ไปนั่งที่โคนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ชาวบ้านแถว ๆ นั้นก็ไม่สนใจอะไรกับพราหมณ์ พวกเขาคิดว่าไปหาพราหมณ์ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

อยู่มาวันหนึ่งมีผู้หญิงคนหนึ่งอุ้มลูกแล้วก็เดินร้องไห้ เพราะว่าลูกเขาป่วยจะตาย ไม่มีหมอรักษา วิ่งอุ้มลูกไปขอร้องให้ใครเขาช่วย ก็ไม่มีใครช่วยได้ พอเขาเห็นพราหมณ์เข้า ก็เลยวิ่งเข้ามาหา ขอให้ช่วยรักษาโรคให้ พอพราหมณ์เขาเห็นลูกของเธอ ก็รู้ว่าลูกของเธอเป็นโรคลมป่วง (โรคถ่ายท้องหนัก หมดแรง ปวดมวนท้อง) พราหมณ์ก็เลยหยิบใบหญ้ามาบริกรรมคาถา เคี้ยว ๆ แล้วเอาออกมาเป็นยาให้เด็กกิน เด็กก็หายจากโรค แม่ก็ดีใจ รีบทำความเคารพขอบคุณแล้วก็เดินออกไป แล้วก็ไปเล่าลือให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ ฟัง ทีนี้ชาวบ้านคนอื่น ๆ เขาก็พากันมาหาพราหมณ์กันน่ะสิ ไอ้คนนั้นป่วยอย่างโน้นอย่างนี้ ขอยาหน่อยเถอะ สารพัดจะขอ มันปวดนิดเดียว มันก็มา สารพัดอย่าง ท่านครับผมปวดขา เป่าผมหน่อยเถอะ พอเป่าพรวดก็หายเดินยิ้มแป้นกลับไป วัน ๆ พราหมณ์ไม่ต้องทำอะไร นอกจากเรื่องพวกนี้ แต่ตัวของพราหมณ์เองนั้น ก็มีความสุขจากการที่ได้ให้ พราหมณ์ก็อยู่ช่วยเหลือคนในหมู่บ้านนี้ไปเรื่อย ๆ

อยู่มาคราวหนึ่ง มีคนตายไปแล้ววันหรือสองวัน แต่ว่าพ่อแม่ทำใจยอมรับไม่ได้ เก็บร่างของลูกเอาไว้ไม่ยอมให้ทำพิธีศพ แล้วก็มาอ้อนวอนพราหมณ์ขอให้ช่วยชุบชีวิตลูก แล้วก็บอกกับพราหมณ์ว่า ถ้าชุบชีวิตขึ้นมาได้ล่ะก็ จะเอาอะไรก็จะให้ทุกอย่าง ขอให้ลูกเขาฟื้นอย่างเดียว พราหมณ์นั้นก็เลยถามย้ำไปว่า “ถ้าช่วยชุบชีวิตแล้วขออะไร ก็จะให้หมดเลยใช่ไหม?” คนเป็นพ่อก็รับปากว่า “ได้ครับ ผมยอมท่านทุกอย่าง ขอให้ท่านบอกมาคำเดียว จะให้ทำอะไร ผมยอมทุกอย่าง” พราหมณ์ก็ช่วยชุบชีวิตลูกของเขาให้ แต่พอถึงเวลาที่พราหมณ์จะทวงสัญญา พราหมณ์ก็บอกว่า “ฉันจะขอหละ” ไอ้ตัวคนพูดเขาก็รีบบอกเลยว่า “ท่านอย่าขอสิ่งนั้นขอสิ่งนี้ เรื่องนั้นเรื่องโน้นเลยนะ ผมทำไม่ได้หรอกนะครับ” พราหมณ์ ก็ไม่ว่าอะไร เพราะที่บอกว่าจะขอสิ่งของนั้น ก็แค่จะลองใจดูว่า คนเรานั้นมันจะเหลืออะไรบ้างในความดี แล้วพราหมณ์ก็ได้เห็นแล้วว่า คน เรา ถึงเวลาอยากจะเอาอะไร ก็พูดวาจาพล่อย ๆ ได้ทุกอย่าง แต่พอได้แล้วก็เปลี่ยนคำพูดเสียอย่างนั้น ตัวพราหมณ์เองก็เลยกลับมานั่งคิดพิจารณากับตัวเอง ว่าตนเองอยู่ที่นี่ ช่วยเหลือคนมาเป็นปี ๆ แล้ว ที่มาช่วยคนให้พ้นความทุกข์นั้น มันยุ่งเหลือเกิน ในเมื่อคนมันมีแต่อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่พอได้แล้ว มีแล้ว เป็นแล้ว มันก็แค่นั้น คนเหล่านี้เราจะไปช่วยให้เขาพ้นทุกข์ทำไม ช่วยไปก็แค่นั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากความวุ่นวาย การให้ทานหนะ ถ้ามีปัญญาไม่พอกับความรู้ สิ่งที่ตามมาก็คือความวุ่นวาย ผู้ให้ก็มีแต่กำลังใจที่อยากจะให้เท่านั้น แต่เมื่อขาดปัญญา ผลของมันก็จะมีความวุ่นวายตามมา แต่ว่าการให้ก็ถือเป็นความสุขนะ แต่มันก็คงจะไม่มีอะไรมาแก้นิสัยของคนเหล่านี้ได้หรอก สิ่งที่เราทำได้อย่างเดียวคือทำให้ใจของเราเป็นสุข สุขจากการให้ แต่จะทำให้คนอื่นเขามีความสุขจากการให้เหมือนที่เรามีนั้นมันยาก เพราะมันคิดแต่ว่าการเอาเป็นของดี เอาทุกอย่าง มันเอาทุกเรื่อง แค่กล้าเอ่ยปากขออย่างเดียว พราหมณ์อยู่ที่นั้นจนรู้สึกว่า การให้ของเขานั้น มันไม่ทำให้ตัวเขาเป็นสุขได้จริง ถึงเวลาเขาก็พอ

เดินทางออกจากหมู่บ้านนั้นไป เดินทางต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีจุดหมาย พวกคนในหมู่บ้านนั้นก็พากันต่อว่าพราหมณ์ว่า “พราหมณ์ หนะเห็นแก่ตัว มาอยู่ เราก็ให้กิน เอาผลไม้เอาน้ำมาให้ ให้ที่อยู่ เวลาพวกเราเดือดร้อนกลับไม่อยู่ช่วยเหลือพวกเราเลย คนอย่างนี้อย่าไปคบกับมัน” เออ เจริญพรเถอะ จะเอาอะไรกับคน พาล ให้ดีแค่ไหน เราก็เลวในสายตาคนพาล พวกนี้มันพวกปทปรมะ ไม่มีผลในการสงเคราะห์ช่วยเหลือ ทำไปก็สูญเปล่า แต่ก็มีบางคนในหมู่บ้านเถียงว่า “ไปว่าท่าน ทำไม เราเดือดร้อนท่านก็เมตตาช่วยเหลือ ทำไมไม่เห็นความดีของท่านบ้าง” นี่มันก็มีทั้งคนชมและคนด่านะ มันเป็นของคู่กัน อย่าไปคิดว่าจะได้อย่างเดียว ไม่มีใครคิดว่าเราดีอย่างเดียวหรอก นี่หละโลกธรรม มันเป็นธรรมประจำโลก พราหมณ์อยู่ในหมู่บ้าน ก็ช่วยเหลือชาวบ้านทุกเรื่องที่เขามาขอให้ช่วย แต่ถึงแม้ว่าพราหมณ์จะทำดีต่อพวกเขาอย่างไรก็ยังไม่วายมีคนติอีก นี่คือโลกธรรม มีคนรักก็ต้องมีคนเกลียด มีคนชมก็ต้องมีคนด่า ไม่มีใครในโลกนี้ หนีพ้นคำนินทาและคำสรรเสริญไปได้เลย
Posted by Mr.Phrase on 04/20 at 03:56 AM
(0) Comments • (0) TrackbacksPermalink

พรหมแปลงกาย

กาลครั้งหนึ่ง มีมนุษย์อาศัยอยู่ในโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งในโลกแห่งนี้มีแต่ความสวยสดงดงาม คนทุกคนมีรูปร่างหน้าตาที่สวยหล่อกันทุกๆ คน มีแต่ความสะอาด ไม่มีความสกปรก มีแต่ความหอม ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าใด ๆ เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมเหล่านั้นเลย อยู่มาวันหนึ่งมีพรหมองค์หนึ่งที่พึ่งจะออกจากนิโรธสมาบัติ (คือการที่พระอริยเจ้าตั้งแต่ระดับพระอนาคามีขึ้นไปเข้าสมาบัติ ๘ แล้วจิตดำดิ่งเข้าสู่สมาธิขั้นลึกที่สุด) แล้วถอยกำลังฌานลงมา เกิดนิมิตในสมาธิจิต เห็นมนุษย์ในโลกแห่งนี้เต็มไปด้วยความมัวเมา คือเห็นว่ากามารมณ์ (ความพึงพอใจในรูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม และสัมผัสที่นุ่มนวล) นั้นคือความสุขอันยอดเยี่ยม พรหมองค์นั้นก็คิดว่า หาก บุคคลที่อยู่ในโลกใบนี้เคยมีวาสนาต่อเรา เราจะทำลายความคิดเหล่านี้ให้สิ้นไป พอท่านตั้งจิตปั๊บ ภาพมันก็ปรากฎออกมาว่า ในสมัยหนึ่ง คนเหล่านี้เคยเกื้อกูลซึ่งกันและกันมา อาศัยในป่าอันไกลโพ้น เป็นชาวป่า ชาวดง เคยช่วยเหลือกันในการก่อสร้างบ้านเรือน เคยช่วยเหลือแบ่งปันอาหารอุปถัมภ์ค้ำชูกันมา พรหมก็คิดว่าถ้าบุญวาสนาบารมีเคยมีในชาติกาลก่อนนี้ การไปของเราคงเป็นผล

พรหม ท่านก็เลยแปลงร่างให้กลายเป็นคนน่าเกลียด ผิวพรรณตะปุ่มตะป่ำ กลิ่นตัวเหม็น พูดออกมาก็เหม็น เดินไปตรงไหนก็เหม็น แล้วท่านก็เดินเข้าไปในหมู่คนที่มีความหมกมุ่นในกามารมณ์เหล่านี้ คน เหล่านั้นเห็นท่าน ก็ได้รู้สึกแปลกใจ ว่านี่คือตัวอะไร แล้วพวกเขาก็เรียกประชุมกันเพื่อถกปัญหาเรื่องนี้ แล้วผลสรุปก็ออกมาว่า ความ ฉิบหายมาปรากฎแก่พวกเราแล้ว คือหมายความว่ามีตัวกาลกิณีมาปรากฎในหมู่บ้านของเราแล้ว ร่างพรหมที่ แปลงมานี้ได้ทำให้เขาไม่มีความสุข เพราะพวกเขาเคยชินแต่การมองดูสิ่งที่สวยงาม เคยชินกับกลิ่นหอม ของหอม แต่พรหมที่แปลงมานั้นมีกลิ่นเหม็น ร่างกายน่าเกลียด คนเหล่านี้ไม่เคยสัมผัสกลิ่นที่เหม็นมาก่อน และก็ไม่เคยเห็นสิ่งที่มีรูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียดแบบนี้มาก่อน นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา พวกเขาจึงคิดว่ามันเป็นเสนียดจัญไร เป็นกาลกิณี และสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นต่อมาก็คือ ความเห็นแก่ตัวของคนเหล่า ๆ นี้ โดยพวกเขาได้ทำการขับไล่ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่เคยแสดงกิริยาวาจาขับไล่ซึ่งกันและกันมาก่อน แม้ถ้อยคำวาจาที่พวกเขาเคยใช้ เคยพูด ต่อกันนั้นก็มีแต่ถ้อยคำที่ดี ที่ไพเราะ แต่เขากลับพูดวาจาที่ไม่ดีกับพรหมที่แปลงมา ทั้งที่พวกเขาก็ไม่เคยกล่าวถ้อยคำวาจาที่ไม่ดีแบบนี้ มาเลยในกาลก่อน ไม่มีใครเคยสอนให้พวกเขาพูดคำหยาบแบบนี้ด้วย พวกเขาพากันขว้างปาสิ่งของที่อยู่ใกล้มือมาเขวี้ยงใส่ ขับไล่ไสส่ง จนพรหมที่แปลงมานั้นมีเลือดสาดออกมา แต่พรหมก็ไม่ตาย แต่ค่อย ๆ กระดื๊บ ๆ พยุงร่างกายที่มีเลือดโซม ตาบวม หัวปูด แขนหักงอ เพราะคนเป็นพันเป็นหมื่นมารุมเขวี้ยงของใส่เขา ซึ่งถ้าเป็นคนจริง ๆ ก็ตายไปแล้ว แต่เชื่อไหมว่าการปราบใจของคนนั้นมันมีเหตุผลอยู่ คนเราน่ะ หากไปประทุษร้ายต่อใครคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ประทุษร้ายตอบ และคนที่ถูกประทุษร้ายนั้นเป็นคนไม่มีทางสู้ และไม่เคยกล่าวถ้อยคำวาจาใดที่หยาบคายต่อกันสักครั้ง ไม่เคยมีสายตาเคียดแค้นใด ๆ ออกมาสักนิดเมื่อถูกทำร้าย เป็นเธอ เธอจะเขวี้ยงเขาอีกครั้งไหม? ก็ไม่ ใช่มั้ย ก็ไม่มีใครหยิบสิ่งของขึ้นมาขว้างปาใส่อีกเป็นครั้งที่สองเลย

พรหมที่แปลงมาก็ค่อย ๆ พยุงร่างกายขึ้นมาแล้วกล่าวถ้อยคำอันมีกลิ่นเหม็น ๆ ออกมาว่า ดูก่อน ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นผู้อยู่ในความเจริญดีแล้วรึ ท่านเห็นแก่กายแห่งเราอันเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่ต้องกับความปรารถนาของท่านทั้งหลาย จึงคิดทำลายร่างกายนี้ใช่มั้ยรึ?

คนทุกคนเงียบสนิทเพราะไม่เคย ได้ฟังคำตักเตือน หรือมีคนมาคอยชี้แนะ จึงเงียบสนิท พรหมที่แปลงมาจึงพูดต่ออีกว่า ท่าน ผู้เจริญทั้งหลาย แม้เราจะมีกายน่ารังเกียจ แต่ใจของเรานั้นเล่าไม่เคยแสดงความหยาบออกมาให้ท่านทั้งหลายได้สัมผัสรู้แม้ สักนิดเดียว ตรงกันข้ามกับท่านทั้งหลายผู้กล่าวว่าเป็นผู้มีรูปอันงาม คำพูดสรรเสริญรูปนี้คือความสุขของท่าน ผู้มีกลิ่นอันหอม เป็นผู้สรรเสริญกลิ่นหอมว่าเป็นความสุขของท่าน เป็นผู้ได้ลิ้มรสของอร่อย เป็นผู้สรรเสริญความสุขของท่านด้วยรส เป็นผู้ยินดีในความสัมผัส ในความอ่อนโยนอ่อนนุ่ม ในความสัมผัสที่เกิดความสุข ท่านผู้เจริญ กายวาจาใจของท่านเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยความบริสุทธิ์แล้วรึ จึงได้มีกายผุดผ่องงดงามถึงเพียงนี้ เหตุแห่งเราผู้มีกายอันน่ารังเกียจ แม้นท่านจะประทุษร้ายเราเยี่ยงสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ปาน หากสักนิดแห่งวาจาแห่งเราก็ไม่เคยเพ่งโทษ ตำหนิติเตียนท่านสักนิดเดียวด้วยถ้อยคำอันหยาบ ไฉนเลยท่านผู้เจริญทั้งหลายผู้มีอริยธรรมอันสูง ผู้มีบุญปรากฎว่ามีรูปอันงดงาม เสวยสุขแห่งกามารมณ์อันยอดเยี่ยมในโลกแห่งนี้ หากมีสติสักนิดที่จะคิดถึงความเมตตาปราณี กับผู้ที่มีความทุกข์ยากลำบากแห่งเรา ก็ไม่เคยปรากฎ สมแล้วหรือท่านผู้เจริญเหล่านี้จะยังอุบัติ เกิดขึ้นด้วยความพอใจในรูป เสียง กลิ่น และรสสัมผัสที่ท่านได้เสวยแห่งความสุข? เป็นคำ ด่าที่เพราะ แต่ตอนพูด กลิ่นไม่มีแล้วนะ เงียบสนิท ทุกคนย่อตัวลงแล้วยกมือขึ้น ขอ ท่านผู้เจริญจงยกโทษให้แก่พวกเราเถิด อย่าให้ความวิบัติเกิดขึ้นแก่เราในเบื้องหน้าเลยเถิด อย่าให้ทุคคติจงได้บังเกิดแก่เราในเบื้องหน้าอีกเลย ขอท่านผู้เจริญจงเปล่งวาจาให้อภัยต่อเราเถิด จงอย่าทำความฉิบหายให้บังเกิดแก่พวกเราทั้งหลายเถิดพวกเขาก็ ยกมือไหว้ พรหมที่แปลงมาก็ได้กล่าวว่า แม้น ความคิดแห่งจิตที่อาศัยร่างที่เน่าเปื่อยน่ารังเกียจนี้ที่จะมองพวกท่านด้วย ความเกลียดและโกรธก็หาไม่ ใยเล่าจะให้เราต้องให้อภัยต่อท่านทั้งหลายผู้ที่ไม่ได้ประทุษร้ายต่อเรา? และคนที่เป็นหัวหน้าของคนกลุ่มนี้ก็ได้กล่าวว่า เราทั้งหลายสิได้กระทำต่อท่านจริง ได้ประทุษร้ายจนกายของท่านเลือดอาบโซมขนาดนี้ จะกล่าวว่าเราไม่ได้ประทุษร้ายต่อท่านได้อย่างไรพรหมก็กล่าว ว่า ดูก่อน ท่านทั้งหลาย ท่านลองมองดูดี ๆ  ตัวท่านเองนั่นแหละเป็นผู้ประทุษร้ายตัวของท่าน เราหาได้เป็นผู้ถูกประทุษร้ายไม่(เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้ทำ ให้ตนเองเดือดร้อนจากความไม่พอใจ จากความขาดความเมตตา ทำให้จิตใจของตนเองมีความรุ่มร้อนจึงกล่าวได้ว่าคนเหล่านี้ทำร้ายตัวเอง) คนเหล่านั้นก็เงียบ แล้วหันมามองตัวเอง แล้วยกมือขึ้นพนมกล่าวว่าคำพูดของท่านช่างเป็นวาจาอันไพเราะยิ่ง ขอให้ท่านได้มานั่งที่นี่เถิด แล้วพวกเขาก็ได้จัดอาสนะให้ และนำน้ำหอมที่หอมที่สุดมาชโลมอาสนะ เอาผ้าเนื้อดีมาวาง จัดอาหารที่มีรสเลิศมาให้ เตรียมเสื้อผ้าที่ดี ๆ มาให้

พรหมที่แปลงมาก็ได้กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่ความสุขของใจเรา แต่เราเห็นควรแก่ใจของท่านที่ได้สำนึกแล้วว่าได้กระทำผิดแล้ว จึงขึ้นไปนั่งบนอาสนะ พอท่านนั่งปั๊บ กายที่เน่าเปื่อยของพรหมก็ได้เปลี่ยนเป็นกายที่สวยงาม มีแสงเรืองรองออกมาจากร่างกายอย่างสว่างไสว คนเหล่านั้นก็พลัน สะดุ้ง ขึ้นในจิตว่าเรานี้ได้ทำผิดไปมาก ที่มัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จนไม่ได้คำนึงถึงความเมตตาและปราณี มีแต่หลงว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเหล่านี้ คือความสุขแล้ว ติดอยู่ในความสุขอย่างนี้ ต่างคนก็ ต่างคิด พรหมองค์นั้นจึงกล่าวถ้อยคำเป็นคาถาว่า ขึ้น ชื่อว่าความสุขอันยอดเยี่ยมคือความระงับแล้วซึ่งกิเลสและตัณหา ขอให้ท่านทั้งหลายจงกลับมาพิจารณา ความสุขอันยอดเยี่ยมที่ท่านมีอยู่ตอนนี้ว่าหาควรแก่พวกท่านไม่ ท่านจงเป็นผู้ตั้งใจทำเนกขัมมะให้เกิดเถิดแล้วพวก เขาก็ถามว่าเนกขัมมะคืออะไร พรหมก็ตอบว่า เนกขัม มะก็คือการตั้งจิตให้เต็มไปด้วยความเมตตาและสงสารคน เป็นผู้ยินดีในความดีของผู้อื่นเสมอ เป็นผู้ไม่ข้องแวะในสิ่งที่เป็นกฎของความเป็นจริง เป็นอยู่อย่างนั้น เนกขัมมะคือผู้ไม่เห็นความรู้สึกหรือพึงพอใจในรูป ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระสับกระส่าย ไม่แสวงหา ไม่หลงว่านี่คือความสุข เนกขัมมะเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่คิดหรือคำนึงถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ว่าจะยังให้เรามีความสุข จนเกิดความกระสับกระส่าย ฟุ้งซ่าน ท่านทั้งหลายผู้มีบุญมามากดีแล้ว จงพึงปฏิบัติตามนี้เถิด แล้วคนเหล่านั้นก็พากันละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส สิ่งที่เคยวุ่นวาย เขาก็ละความวุ่นวาย เขากลับมามีจิตใจที่เต็มไปด้วยความเมตตาปราณี และทำอยู่อย่างนี้จนละอัตภาพไป ตายแล้วก็กลายเป็นพรหมอยู่บนพรหมโลก

จบ ภาค ๑
*********


หลังจากที่คน เหล่า ๆ นั้นบำเพ็ญเนกขัมมะบารมีจนสิ้นจากความเป็นมนุษย์ไปแล้วนั้น พวกเขาก็ได้ไปเกิดในแดนพรหม แล้วก็จุติลงมา แต่ไม่ได้เป็นมนุษย์หรอกนะ พรหมแต่ละองค์ต่างก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เธอคงสงสัยว่าทำไม ในเมื่อบุญญาธิการของคนเหล่า ๆ นี้ก็มี เพราะเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยเนกขัมมะบารมี ทำไมจึงต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คำตอบก็คือว่า ท่านพรหมผู้ที่เป็นหัวหน้าของพรหมกลุ่มนี้เป็นผู้บอก ให้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพื่อทำลายทิฐิมานะ ความถือตัวถือตนที่ยังมีเชื้ออยู่ในจิต เพราะว่าการเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ได้ยกย่อง ไม่ให้ความสำคัญ เหมือนเป็นสิ่งไร้ค่า จะประทุษร้ายย่ำยีอย่างไรก็ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการปรามและปราบใจที่พยศ ที่เป็นปัจจัยของการเกิดในเบื้องหน้า (การเวียนว่ายตายเกิด) ของบุคคลเหล่านี้ ที่จะต้องเกิดมาเป็นผู้หลงผิด แม้ว่าคนเหล่านี้จะเคยทำเนกขัมมะบารมีมาก่อน ก็อย่าคิดว่าจะไม่มีสิทธิ์หลงนะ (ความหลงผิดที่เป็นปัจจัยให้ยังคงต้องมาเวียนว่ายตายเกิด) มันยังมีเชื้ออยู่ในใจในเรื่องมานะ (ความถือตัวถือตน) เขาจึงต้องให้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเพื่อเป็นการปราบใจของตน

พรหมที่เป็นหัวหน้าก็ลงมาเกิดเป็นพญาราชสีห์ ส่วนพรหมองค์อื่น ๆ ก็เกิดเป็นสัตว์ต่างชนิดกัน บางคนเป็นสัตว์เล็ก บางคนเป็นสัตว์ใหญ่ บางคนเป็นสัตว์ที่น่าสะพรึงกลัวอย่างเสือ เป็นลิง เป็นกวาง เป็นเก้ง เป็นกระต่าย อยู่ในป่าเดียวกัน เพื่อให้รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างมีเมตตาต่อสัตว์ต่างชนิด แต่เมื่อเหล่าพรหมทั้งหลายมาเกิดแล้วก็ไม่สามารถจะจดจำสัญญา (ความทรงจำในอดีต) ต่าง ๆ ในกาลก่อนได้ พวกเขาต้องเริ่มต้นในการฝึกทุกอย่าง เธอลองคิดสิว่า คนที่สะสมเชื้อความหลงผิดมานานนักหนาน่ะและจะต้องทำการต่อสู้ให้มีชีวิตรอด อยู่ได้ด้วยอาหาร มีหรือที่จะไม่ประทุษร้ายต่อกัน มีแน่ ๆ เขาเหล่านี้ก็ประทุษร้ายต่อกันเพื่อมาเป็นอาหาร บางคนถึงตายแล้วก็เกิดใหม่อีก ไม่ได้ตายแล้วไปเลยนะ เพราะมันเป็นคำสั่งจากพรหมองค์ที่เป็นหัวหน้า ที่เหล่าพรหมทั้งหลายจะต้องกลับมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานต่อไปอีก จนกว่าจะสามารถละทิฐิมานะออกจากใจของตนได้แล้ว ถึงจะไม่ต้องมาเกิดเป็นสัตว์ อีก เหมือนเป็นคำแช่งจากพรหม แล้วพวกสัตว์เหล่านั้นเขาก็กินกันเอง เกิดมาใหม่ก็ฆ่ากันเพื่อมาเป็นอาหาร ต่างคนก็ต่างประทุษร้ายกัน ส่วนพญาราชสีห์ที่เป็นพรหมที่เป็นหัวหน้าก็ไม่ได้ทำอะไร หากแต่ปล่อยให้มันเป็นไปตามสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ เพราะในการจะสอนน่ะ มันไม่ใช่ว่าจะไม่ต้องให้พวกเขานั้นทำอะไรเลย แล้วให้คอยนั่งฟังอย่างเดียว แล้วจะให้ไปบอกระงับความหลงผิดได้ มันต้องเจอของจริงก่อน

พรหมองค์ที่เป็นหัวหน้าที่มาเกิดเป็นพญาราชสีห์ ก็รอจนกระทั่งเหตุการณ์มันเป็นไปอย่างนี้เป็นเวลา ๑๐๐ ปี เกิดแล้วตาย
ตายแล้ว เกิด เพราะอายุของสัตว์เหล่านี้ไม่นาน ไม่เกิน ๑๐ ปี ตายแล้วเกิดอยู่อย่างนี้ ถึงวันหนึ่งที่พญาราชสีห์คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องมาปราบใจของสัตว์เหล่า ๆ นี้ให้รู้สึกในความคิดของตนว่า ที่ทำอยู่น่ะมันผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง พญาราชสีห์ก็ส่งเสียงคำรามออกมาจากในป่าด้วยภาษาที่สัตว์ต่างก็รู้กันว่า “สัตว์ทั้ง หลาย ท่านมีชีวิตอยู่ก็เหมือนหาชีวิตไม่ ตายก็เหมือนไม่ตาย จะเป็นหรือจะตายก็ไม่เท่ากับว่ามีชีวิต พวกท่านมีชีวิตที่เป็นโมฆะ” สัตว์เหล่านั้นได้ฟังก็ประหนึ่งดังกับมีสิ่งหนึ่งมาเคาะที่หัวใจของพวกเขา มันเป็นคำพูดที่ประหนึ่งว่าเหมือนโดนดุโดนด่าอย่างไรไม่รู้ ต่างคนก็ต่างมารวมกันโดยไม่ได้นัดหมายอยู่ในทุ่งแห่งหนึ่ง พญาราชสีห์ก็ยืนอยู่บนโขดหินสูงแล้วมองลงมาในหมู่เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ทั้งหลาย แล้วเปล่งวาจาว่า “พวกท่านเป็นผู้ตั้งตนอยู่ในความประมาท ที่ไม่เคยให้ความเมตตาปราณีต่อกันและกันเลย เสียแรงที่พวกท่านได้เคยฝึกเนกขัมมะบารมีมาในกาลก่อน เวลาของท่านแทบจะไม่มีค่าอีกแล้ว หากท่านยังประพฤติตนเช่นนี้ที่ไม่เห็นแก่ชีวิตของใครแล้วล่ะก็ ท่านก็จะไม่มีโอกาสได้เป็นมนุษย์อีกเลย ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างนี้อีก อย่างเลวพวกท่านก็ลงไปเกิดในนรก แล้วก็ต้องกลับมาเป็นสัตว์เดรัจฉานอีก” สัตว์เหล่านั้นต่างก็มีความสะดุ้งหวาดกลัว แล้วมีสัตว์อยู่ตัวหนึ่งพูดขึ้นว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านช่วยชี้ทางให้แก่พวกเราเถิด เราไม่อยากเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราไม่อยากหิวโหยแบบนี้ เราไม่อยากประทุษร้ายกันแบบนี้ แต่เราไม่สามารถจะยับยั้งตัวเราให้เป็นไปตามที่ท่านพูดได้เลย” พญาราชสีห์ก็ตอบว่า “เป็นได้สิ ท่านทั้งหลาย หากท่านรู้จักคำว่าสะดุ้งและหวาดกลัว” แล้วสัตว์เหล่านั้นก็ถามว่า “พวกเราต้องกลัวอะไร?”“พวกท่านต้องกลัวการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน” พญาราชสีห์ตอบ เหล่าสัตว์ทั้งหลายเขาก็บอกว่าพวกเขากลัว “และพวกท่านก็ต้องรู้สึกละอายผลของการ ที่ท่านทำความชั่วไว้แบบนี้ ที่ทำให้พวกท่านต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่  รู้จักจบจักสิ้น” พญา ราชสีห์พูดต่อ นี่เขาสอนอะไร? เขาสอนหิริ-โอตตัปปะ คือความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป “พวกท่านต้องรู้จักละอายและเกรงกลัวต่อบาป กรรมที่ทำนี้ พวกท่านต้องนำเอาสิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนสติไว้เสมอ”

เมื่อพญาราชสีห์พูดจบ เขาก็ไป แล้วสัตว์เหล่า ๆ นั้นก็พากันไปนั่งทบทวนอยู่กับตัวเอง ต่างคนต่างก็เตือนใจตนเอง จนค่อย ๆ บรรเทาความอยากกินลงไป โดยอาศัยความคิดที่ว่า
“ถ้าเรายัง คงทำอย่างนี้อีก เราก็จะไม่มีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์ และเป็นอย่างอื่นที่ดีกว่านี้อีก เราจะต้องมาเป็นอยู่แบบนี้ จะต้องมาทรมานกับสภาพแบบนี้” พวกเขายั้งใจของเขาไว้อย่างนั้น ยั้งใจเอาไว้ได้จนกระทั่งดวงจิตทุกดวงของสัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นสามารถหยุด ยั้งการทำร้ายต่อกันได้ มีคุณธรรมของหิริโอตตัปปะ เมื่อสัตว์ทุกตัวสามารถยับยั้งใจไว้ได้แล้วนั้น พญาราชสีห์ก็มาปรากฎตัวขึ้นใหม่แล้วกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย เราเห็นแล้วว่าพวกท่านระงับซึ่งความกลัว กลัวที่จะต้องเกิดมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน” นั่นคือเขาสามารถระงับใจ จนไม่มีความรู้สึกกลัว ว่าตนเองจะพลาดมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้อีก จิตของเขาไม่มีความคิดจะประทุษร้ายใคร จิตของเค้ามีแต่ความเมตตาสงสาร แม้ว่าจะมีสัตว์อื่น ๆ อยู่ตรงหน้าของตน ซึ่งสามารถจะมาเป็นอาหารแก่เขาได้ เขาก็ไม่คิดที่จะประทุษร้ายกัน แล้วพญาราชสีห์ก็พูดต่อว่า “ขอให้ท่านจงตั้งใจมองในสิ่งที่ท่านเป็นอยู่เถิด ว่าร่างกายของท่านน่ารังเกียจไหม?” ต่างคนก็ต่างดู เขาก็พูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่หรือเรา นี่หรือคือตัวเรา ตัวเราเป็นอย่างนี้หรือ” แล้วพวกเขาก็ระลึกชาติได้ว่า ตัวของเขาเคยเป็นผู้ที่สวยงาม เคยเป็นผู้ที่ยินดีในกามารมณ์มก่อน พวกเขาจึงละอายใจมาก ๆ ว่าเรานี่ไม่สามารถจะทำลายความชั่วในจิตใจ ของเราได้อย่างมั่นคงเลย เพียงแค่ผ่านไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เราก็กลับมาทำความชั่วแบบนั้นอีก แล้วพวกเขาก็ถามตัวพญาราชสีห์ว่า “แล้ว เมื่อไรที่เราจะไม่ต้องกลับมาเป็นแบบนี้อีก?” พญาราชสีห์ก็ตอบว่า “เมื่อท่านทั้งหลาย เห็นโทษของการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เห็นโทษของความหิวโหย เห็นโทษของรูป เห็นโทษของสิ่งเหล่า ๆ นี้แล้ว ท่านก็จะไม่มีโอกาสกลับมาเกิดเป็นสิ่งเหล่า ๆ นี้อีก” แล้วสัตว์ทุกตัวก็ พากันเพ่งโทษโจทก์ความชั่วของตนเองว่า เรานี่เลวนัก เรานี่มีความหลงผิดนะ เราถึงต้องมาเป็นแบบนี้ เรานี่มีจิตใจหยาบคาย ประทุษร้ายต่อคนอื่น ๆ ได้โดยไม่รู้สึกสงสารในความทรมานของเขาเลย เรานี่มันชั่วเหลือเกิน จนกระทั่งพวกเขารู้สึกละอาย อายมาก เกลียดตัวเองมาก เกลียดความคิดแบบนี้มาก จนรู้สึกอยากจะตายไปเสีย

แต่ในขณะนั้นก็ได้มีเสียงหนึ่งดังกังวานขึ้นมาว่า
“ท่านผู้เจริญ เหตุใดเล่าท่านถึงต้องกล่าวถ้อยคำวาจาว่าอยากตาย ในเมื่อท่านเป็นผู้ไม่ตาย ทำไมถึงกล่าวคำวาจาว่าอยากตาย?” สัตว์เหล่านั้นต่างก็อึ้งกิมกี่ คิดไม่ทัน ไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่ตาย ในเมื่อเราเกิดมาแล้วเราก็ตายนี่ ตายแล้วก็ตายอีกอยู่นี่นา แล้วพญาราชสีห์ผู้เป็นเจ้าของเสียงนั้นท่านก็ตอบว่า “ท่านไม่ได้ตาย ที่ท่านต้องมีรูปที่น่ารังเกียจ มีความเขลาโง่ ที่เป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์โทษในการเกิดไม่จบไม่สิ้น นั้นเป็นเพราะว่า ความหลงผิดของท่านน่ะ มันไม่ได้ตายออกไปจากใจของท่านต่างหากเล่า เราจึงได้กล่าวว่าท่านไม่ได้ตาย ตัวท่านน่ะไม่ตาย เพราะยังมีความคิดโง่ ๆ ที่มันยังไม่ตาย มันคือความหลงโง่ ๆ น่ะที่ไม่ตาย” (เมื่อยังมีความหลงผิดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และกิเลสอื่น ๆ อยู่ มันทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้อีก ทำให้เกิดมาตายอีกกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง มันก็ยังไม่สามารถจะตายจริง ๆ โดยที่ไม่ต้องมาเกิดใหม่ได้อีก) สัตว์เหล่า ๆ นั้นต่างก็พิจารณากันว่า “อ๋อ มันเหตุนี้เองที่พญาราชสีห์จึงได้กล่าวถ้อยคำนี้ พวกเขาจึงหยุดความคิดอยากตาย ความคิดที่จะอยากฆ่าตัวตาย เขาจะคิดแต่ว่ามันจะตายเมื่อไรก็ช่าง แต่เราจะไม่ยอมให้ความดีที่เราตั้งใจทำนั้นตายไปกับกายนี้ และจะไม่ยอมให้สิ่งที่เป็นความชั่วมันกำเริบขึ้นมาในใจของเราอีก เราขอตั้งสัตยาธิษฐานว่า เราจะไม่ยอมทำความชั่วอย่างนี้อีกไม่ว่าเราจะเกิดชาติไหน ๆ” หลังจากนั้นเมื่อพวกเขาเปล่งวาจาจบ กายทุกกายที่เป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นก็ล้มตึง ดวงจิตเหล่า ๆ นั้นก็กลายเป็นกายละเอียด สวยงาม มีรัศมีกายสว่าง ลอยขึ้นไปเสวยทิพยสมบัติที่สวรรค์ พอไปที่สวรรค์ก็เป็นเหตุอันแน่นอนที่พวกเขาจะไม่ทำชั่วอีกแล้ว (เพราะพวกเขาต้องทรงคุณธรรมของความเป็นเทวดาซึ่งก็คือ หิริ โอตตัปปะ) เขาต้องการทำความดีให้ถึงที่สุด จึงเป็นเหตุให้พวกเขาได้พบกับพระพุทธเจ้าบนสวรรค์ (พระพุทธเจ้าท่านทรงเสด็จมาเทศน์บนสวรรค์เป็นประจำ) เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบ พวกท่านเหล่านั้นต่างก็จบกิจเป็นพระอรหันต์กันหมด ความหลงผิดในใจของพวกเขาได้ตายไปจนหมดสิ้นแล้ว เว้นแต่พรหมที่เป็นพญาราชสีห์องค์เดียวเท่านั้น
Posted by Mr.Phrase on 11/23 at 12:15 AM
(0) Comments • (0) TrackbacksPermalink

เกาะลิง

มี เกาะอยู่เกาะหนึ่ง ไม่ใช่เกาะอกนะ เป็นเกาะไม่ใหญ่นักอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรทั้ง ๔ มันมีอยู่เกาะเดียว อยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้าง โดยที่รอบ ๆ นั้นไม่มีอะไรนอกจากทะเล บนเกาะนี้ก็จะมีลิงอยู่เป็นเจ้าเกาะ แต่ก็พอจะมีสัตว์อื่น ๆ อยู่บ้าง ทีนี้เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า อยู่มาวันหนึ่งมันมีคนเรือแตกว่ายน้ำขึ้นมาบนเกาะนี้เข้า เขามาจากไหนก็ไม่รู้ เป็นผู้ชายคนเดียวไม่มีเสื้อผ้าใส่ เพราะเขาเรือแตกว่ายน้ำมานาน เสื้อผ้าของเขาลอยตามน้ำออกไปหมด เดินขึ้นมาบนเกาะ พวกลิงต่างคนก็ต่างมอง ก็จ้องมองชายผู้นั้นอย่างแปลกใจเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วก็ร้องส่งเสียงกันบอกกัน ถึงสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่เกาะของพวกเขาตามประสาลิง กระโดดโลดเต้นไปด้วย ซ้ายขวา จนทำให้พญาลิงสงสัย ก็เลยออกมาจากถ้ำที่หน้าผาเพื่อยืนดูและมองไป แล้วพญาลิงก็เห็นตัวประหลาดที่เป็นมนุษย์นั้น กำลังเดินมาด้วยท่าทางโทรม ๆ พญาลิงจึงรำพันขึ้นมาว่า
“ที่นี่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว” โดยพูดอยู่ถึง ๓ ครั้งแล้วก็ไม่พูดอะไรอีก แล้วก็โดดลงไปปลอบพวกลิงเด็ก ๆ ที่กำลังตื่นตกใจกับสิ่งประหลาดที่ได้เห็นว่า ลูก หลานเราจงอย่าได้ตระหนกตกใจกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเลย ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ของที่มีแต่ความเลวร้ายอย่างเดียว แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีแต่ดีอย่างเดียวด้วย แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นความจริง ที่เราไม่เคยพบมาก่อน พญาลิงไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวใด ๆ กับมนุษย์ผู้นั้น แต่ปล่อยให้มนุษย์ผู้นั้นทำตามที่ตนเองต้องการ


มนุษย์ ผู้นั้นก็มีความหิวโหย เขาก็เก็บเศษอาหารที่พวกลิงเหล่านั้นเขวี้ยงทิ้ง กินทิ้งกินขว้าง เพราะว่าลิงฝูงนี้เป็นลิงที่มีบุญ ได้เกิดมาอยู่บนเกาะที่อุดมสมบูรณ์ และไม่มีศัตรูมาทำร้ายเพราะเขาอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ ไม่มีพวกเสือหรือสัตว์อะไรที่จะมาทำร้ายพวกเขาได้ ลิงพวกนี้ก็ใช้ชีวิตตามสนุกไปเรื่อย ตื่นมาก็ไปกินไปเล่น กินไปเล่นไปอย่างนั้น โตมาหน่อยก็หาสามีหาภรรยาสืบพันธุ์ไปตามปกติ ที่แก่ตัวลงก็ตายไป ทีนี้เมื่อมีมนุษย์ขึ้นมาอยู่ด้วยอีกคนหนึ่ง พวกลิงก็เลยไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เอิกเริกอะไร ก็เลยปล่อยให้มนุษย์อยู่ไปอย่างนั้น ต่างคนต่างอยู่ไปวัน ๆ อยากทำอะไรก็ทำไป มนุษย์จะสร้างที่อยู่อาศัยจากกิ่งไม้ต้นไม้ ที่พวกเขาเคยเหยียบเคยย่างเคยเล่นอะไร ก็ปล่อยให้ทำไป มนุษย์จะทำอาวุธเพื่อหาอาหารก็ทำไป ทำไม้แหลม ๆ มาเพื่อทิ่มแทงสัตว์น้ำอะไรเพื่อหาอาหาร ก็ปล่อยให้ทำไป เหล่าวานรเหล่านี้ก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ


อยู่ต่อมา เรื่อย ๆ นานเข้า ๆ เป็นหลายปี มนุษย์ผู้นี้ก็หมดหวังว่าจะได้ออกไปจากเกาะแห่งนี้แล้ว เขาจึงเริ่มคิดที่จะสร้างอาณาจักร สร้างหลักแหล่งของเขาให้มากกว่าที่กินอยู่ไปวัน ๆ แบบนี้ เขาก็เริ่มหาความเป็นใหญ่ จากที่เขาเคยเดินสำรวจรอบ ๆ เกาะนี้แล้วใช้เวลาถึง ๖ เดือนกว่าจะรอบได้ และเขาก็ไม่พบว่าจะมีสัตว์ใดที่ดุร้ายพอที่จะมาทำอันตรายตัวเขาได้ และพื้นที่ในเกาะนี้ก็อุดมสมบูรณ์ มีอาหารการกินอยู่ทุกที่ อยู่ตรงไหนของเกาะก็มีกิน เขาก็เริ่มคิดว่า ตนเองเป็นเจ้าเกาะ แล้วเขาก็เริ่มแสดงอาการอย่างลิง เพื่อให้ลิงมันรับรู้ว่าเขาก็เป็นลิงตัวหนึ่ง เป็นพญาของลิง เห็นไหม คนน่ะมันทำได้ทุกอย่าง เป็นคนอยู่ดี ๆ ก็ทำเป็นลิงได้ เขาก็เริ่มเลียนเสียงร้องอย่างลิง เพราะเขาอยู่มานาน ก็พอจะเข้าใจลักษณะเสียงร้องของลิงได้ ไอ้ลิงเด็ก ๆ มันก็แปลกใจ นึกว่าเป็นพวกเดียวกัน คิดว่าพวกผู้ใหญ่ของเราคงพูดผิดว่าไม่ควรไปสนใจมนุษย์ผู้นี้ เพราะพวกลิงเด็ก ๆ มันเห็นมนุษย์ร้องเสียงเหมือนพวกมันได้ ก็เลยคิดว่ามนุษย์ผู้นี้เป็นพวกของมัน เป็นลิงเหมือนมัน ก็มีลิงเด็ก ๆ ไปห้อมล้อม พาไปเป็นสมัครพรรคพวก เที่ยวคอยหาอาหารให้เขากิน มนุษย์ผู้นั้นก็คอยบอก อย่างนี้อย่างนั้น ให้ไปเอาอันนี้ ให้ไปเอาอันนั้น เขากินเสร็จเขาก็เขวี้ยงเล่นแบบลิงบ้าง ทำไปอย่างนั้น ไม่ต้องทำอะไร นั่งกินนอนกินอยู่อย่างนั้น คอยให้ไอ้พวกลิงเด็ก ๆ ที่มาเป็นสมัครพรรคพวกของเขาหามาให้


พญาลิงเห็น ในพฤติกรรมของมนุษย์ผู้นี้แล้วก็รู้สึก สังเวชใจที่ว่า ความเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐของเขานั้นได้หมดไปแล้ว กลับกลายเป็นความคุ้นเคยอย่างสัตว์เดรัจฉานตัวหนึ่งไปเสียแล้ว ไม่ใช่เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐอีกต่อไปแล้ว และก็กระทำการอันลามก คือ กระทั่งลิงตัวเมียเขาก็เอามาเป็นเมีย ทำการมักมากในกาม พญาลิงเห็นแล้วก็สลดใจว่า จิตดวง หนึ่งผู้เลวทราม แม้จะอาศัยกายที่เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ แต่กลับมีความหยาบคายเลวทรามต่ำช้าเช่นนี้ เห็นทีเราจะต้องปราบให้เขาได้รู้ว่า เขาได้กระทำในสิ่งที่ไม่ควรเช่นนี้ แล้ว ลิงก็เลยแบ่งออกเป็นสามฝ่าย คือฝ่ายพญาลิงกับฝ่ายมนุษย์ที่ทำเลียนแบบลิง และอีกฝ่ายก็คือฝ่ายที่ยังไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่รอดูว่า ฝ่ายไหนชนะก็จึงจะไปเข้าข้างฝ่ายนั้น เป็น โลกธรรมไหม? (โลกธรรม ๘ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ มีนินทา มีสรรเสริญ ลิงมันก็รู้จักจะเข้าหาฝ่ายที่ชนะ ฝ่ายที่เป็นใหญ่ เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่เดือดร้อนด้วย) ตอนนี้ก็เลยแบ่งเป็นสามกลุ่ม ก็เกิดการต่อสู้กันระหว่างลิงกับคน มีกองทัพลิง ๒ กองทัพเที่ยวเอาหิน เอาไม้ เอาของที่สามารถจะประทุษร้ายต่อกันได้มาขว้างปากัน เกิดการบาดเจ็บล้มตาย


พญา ลิงน่ะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าเขาก็ปล่อยให้มันเกิด เพราะต้องการจะให้เหตุการณ์นี้ สอนลิงเหล่านั้นให้ทราบผลแห่งการกระทำที่หยาบคายต่อกัน หากพญาลิงไปห้ามไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ ก็เท่ากับว่าเขาไปฝืนความเป็นจริงไป ถึงแม้จะทำให้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เคยเป็นอยู่ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือความเป็นจริง เขาก็ปล่อยให้ลิงเหล่านี้ประทุษร้ายกันไป คนละข้าง ต่างฝ่ายต่างก็เจ็บกันไปหมดจนไม่มีฝ่ายไหนกล้าต่อกรกันอีก เพราะต่างฝ่ายต่างก็เป็นลิงเหมือน ๆ กัน มึงขว้างได้ กูก็ขว้างได้เหมือนกัน มึงหลบเป็น กูก็หลบเป็น มันก็เจ็บกันทั้งคู่ ต่างคนก็ต่างเอามือกุมหัวกันทั้งคู่ ก็เหลือแต่พญาลิงกับไอ้พญาตัวเปลือยมาเผชิญหน้ากัน


พญาลิงก็ ยืนนิ่งมอง ส่วนไอ้พญาตัวเปลือยก็เต้น ส่งเสียงร้องแบบลิงทำท่าท้าทาย พญา ลิงก็เลยพูดเป็นภาษาของคนออกมาดัง ๆ ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านลืมความเป็นท่านแล้วรึ ทำให้คนผู้นั้นต้องหยุดแสดงความเป็นลิง งงไปเลย เจอลิงพูดภาษาคนได้ ถึงพญาลิงนั้นจะยืนไม่สง่างาม แต่ถ้อยคำวาจาของเขานั้น องอาจถึงกับทำให้คนผู้นั้นต้องมานั่งมองตัวเอง แล้วคิดอยู่ในใจว่า
นี่เรากำลังทำอะไรอยู่ เราเป็นมนุษย์ดี ๆ ทำไมกลับกลายเป็นสัตว์เดรัชฉาน
แล้วพญาลิง ก็พูดอีกว่า ท่าน คิดถูกแล้ว ท่านไม่ควรจะเปลี่ยนความเป็นตัวของท่าน ท่านเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้มีจิตใจเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ทำไมจึงทำจิตใจชั่วหยาบดังสัตว์เดรัจฉาน นี่เขาชมนะ
คน ๆ นั้นก็สำนึกใจได้ นี่ เขาทำอะไรลงไป เราเป็นมนุษย์ไม่ใช่หรือ เราไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน ทำไมเราไม่พูดภาษามนุษย์กลับพูดภาษาสัตว์เดรัจฉาน ทำไมเราเอาสัตว์เดรัจฉานมาเป็นพวก มาเป็นลูกน้อง มาเป็นทาสรับใช้ เรารึก็ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานเลยนะ เขาพูดอยู่ในใจแบบนี้
ท่าน พญาวานรก็พูดกลับไปว่า ท่าน ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายที่ได้ปรากฎต่อหน้าท่านนั้น คือความจริงที่ท่านได้ควรรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปโดยกาล แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปโดยธรรมอย่างแท้ ท่านควรจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามตัวท่าน ท่านมาอย่างผู้ที่ไม่มีอะไรติดตัวมา ท่านก็ไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปตามตัณหาของท่าน ท่านควรจะเปลี่ยนแปลงมันไปโดยธรรม คือความเป็นจริงที่เป็นอยู่ เมื่อท่านไม่มีเสื้อผ้า ท่านควรจะหาสิ่งที่ปิดบังตัวท่าน เพราะท่านไม่มีขนปิดบังอย่างเรา เพื่อป้องกันความร้อนความหนาวได้ ไม่ใช่มายืนแก้ผ้าห้อยโหนโจนทะยานอย่างนี้ได้
พอ พญาวานรพูดไปอย่างนี้เข้า คนทั้งคนก็ถึงกับต้องทรุดตัวลง ยกมือไหว้ลิง แล้วก็พูดว่า ท่าน ผู้ประเสริฐ ช่างเป็นโชคอันล้ำค่าของเราโดยแท้ ที่ได้มาเยือนในดินแดนอันพิศดารที่นี่ ขอให้เราได้มีส่วนอยู่ร่วมกับพวกท่านด้วยความเป็นสุขเถิด
ท่าน พญาวานรก็ตอบว่าเรา ยินดีที่ท่านจะอยู่ที่นี่ แต่ท่านจงอยู่อย่างมนุษย์ มีความประพฤติตัวอย่างมนุษย์ ให้พวกสัตว์ทั้งหลายได้เห็นความเป็นมนุษย์ เพื่อเบื้องหน้า เมื่อพวกเขาละอัตภาพไป เขาจะได้มีความพอใจในการเป็นมนุษย์อย่างท่าน และได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อย่างท่าน


คน ๆ นั้นเขาก็เลยถามว่าเราควรมีคุณธรรมของ มนุษย์อย่างไรที่ควรปฏิบัติ
พญาวานรก็ ตอบว่า ท่าน ผู้เจริญ มนุษย์แปลว่าผู้ประเสริฐ ผู้ประเสริฐย่อมเป็นผู้มีจิตใจดีงาม ไม่คิดประทุษร้ายไม่คิดอยากได้ด้วยเหตุอย่างใด เป็นผู้ละแล้วซึ่งความทะเยอทะยาน แก่งแย่งชิงดี เป็นผู้มีจิตใจอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือเนื้อถือตน เป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตาปราณี สงเคราะห์ผู้ที่ด้อยกว่า
คน นั้นก็กล่าวตอบว่า เรา จะจดจำถ้อยคำของท่านพญาวานรไว้ เราจะเริ่มปฏิบัติ เพื่อให้เป็นที่พึ่งยังเหล่าสรรพสัตว์ของท่านทั้งหลาย ให้พวกเขาเห็นเรา แล้วปรารถนาอยากเป็นอย่างเรา
ท่านพญาวานร ก็กล่าวสรรเสริญว่า ขอท่านผู้เจริญ จงเป็นผู้ที่มีความสุข ๆ เถิด แล้วก็กระโดดขึ้นไป ๓ ก้าวก็ถึงยอด แล้วประกาศด้วยเสียงดัง ๆ ว่า นับ แต่นี้เป็นต้นไป อัตภาพนี้ มิได้มีต่อเราแล้ว


แล้ว สภาพความเป็นลิงของพญาลิงก็ค่อย ๆ สลายไป กลายเป็นเทวดาปรากฎแทน เหล่าลิงที่เป็นบริวาร พากันมองพญาวานรที่กลายร่างเป็นเทวดาด้วยความรู้สึกว่า “เราได้ มองข้ามผู้ที่มีบุญคุณต่อเรา เราเฉยเมยต่อผู้ที่มีความดีมากถึงขนาดนี้” พวกเขารู้สึกละอายใจ จึงตั้งสัจจะว่า เขาจะปฏิบัติตนทำใจอย่างมนุษย์ เพื่อหวังว่าเมื่อละอัตภาพนี้แล้ว เขาจะได้เป็นมนุษย์ ท่านพญาวานรที่กลายเป็นเทวดาก็ได้กล่าวว่า “ขอความเจริญจงยังปรากฎต่อ หมู่เธอทั้งหลายเถิด” แล้วท่านก็ลอยขึ้นไปในอากาศ สัตว์เหล่านั้นก็ใช้ชีวิตอยู่ต่อไป โดยดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของมนุษย์ที่ท่านพญาวานรได้สอนเอาไว้ และเมื่อตายจากความเป็นลิงไปก็ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ต่อ ทีนี้จะไปเกิดที่ไหนก็ค่อยว่ากันต่อตอนภาค ๒ นะ


เมื่อ พญาวานรละอัตภาพกลายเป็นเทวดาไปแล้ว ลูก ๆ หลาน ๆ วานรก็ปฏิบัติเอาเยี่ยงอย่างจากมนุษย์ เพื่อให้เกิดมาเป็นมนุษย์เพราะพวกลูก ๆ หลาน ๆ วานรนั้นมีความพึงพอใจมากในความเป็นมนุษย์ ซึ่งในขณะที่พวกเขายังเป็นลิงอยู่นั้น มีลิงบาง ตัวถึงกับกล่าวว่า “มนุษย์นี้ช่างมีคุณค่า สง่างาม” รู้สึกว่าการเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เพราะเขาไม่เคยรู้สึกถึงคุณค่าของการเป็นอะไรมาก่อน คิดแต่ว่ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งประเสริฐที่เขาจะเห็นได้ในเวลานั้น เพราะเห็นว่ามนุษย์นั้นมีความเมตตาปราณีต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ถือเนื้อถือตน อ่อนน้อมถ่อมตนต่อกัน เขาต้องเป็นให้ได้ เขาจึงพยายามทำกำลังใจของตนตามแบบที่มนุษย์ผู้นั้นสอน ว่าให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตา กรุณาต่อกัน จงยินดีในความดีซึ่งกันและกัน จงอย่าถือเนื้อถือตัว จงรู้จักช่วยเหลืองานการต่อกัน แล้วลิงทั้งฝูงนั้นก็รักษากำลังใจแบบที่มนุษย์ผู้นั้นสอนไว้เรื่อย ๆ จนถึงวันหนึ่งที่ลิงทั้งฝูงนั้นตายพร้อมกัน ลิงทั้งฝูงนี้ไม่ได้ป่วยเป็นโรคตาย แต่ว่าอยู่ ๆ ก็ตายไปพร้อม ๆ กันหมดทุกตัว โดยที่ลิงทุก ๆ ตัวนั้นมีความพร้อมใจกันตั้งจิตอธิษฐานต่อกัน ว่าเราพร้อมแล้วที่จะเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ แล้วกายที่เป็นลิงนั้นจึงหมดลมหายใจไป


แล้ว จิตวิญญาณของลิงทั้งฝูงนั้นก็ ล่องลอยไป ก็ไปเกิดบนโลก ๆ หนึ่งที่ไม่ใช่ชมพูทวีป บนโลกใบนั้นมีความเขียวชอุ่ม มีพืชพันธุ์ต่าง ๆ อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดใหญ่มากขนาดเล็กที่สุดก็ประมาณ ๑๐ คนโอบเป็นอย่างต่ำ บนโลกนั้นยังไม่มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ มีแต่ต้นไม้ มีน้ำบริบูรณ์สมบูรณ์ พวกฝูงลิงเหล่านี้มาเกิดเป็นมนุษย์เองโดยไม่อาศัยการเกิดจากใคร เรียกว่าเป็นพวก โอปปาติกะ คือเกิดเอง เกิดด้วยความตั้งใจจะเป็นมนุษย์เอง ซึ่งการเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งใหม่สำหรับพวกเขามาก พวก เขารู้แต่คุณธรรมของการเป็นมนุษย์ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าการอยู่อย่างมนุษย์นั้นจะอยู่อย่างไร จึงต้องเริ่มต้นจากการเรียนรู้ว่า เมื่อมนุษย์ต้องอยู่ด้วยกัน ก็จะต้องช่วยเหลือกัน สิ่งแรกที่พวกเขารู้ได้ก็คือ ต้องหาเครื่องนุ่งห่มมาปิดบังกันร้อนกันหนาวกันแมลง พวกเขาก็ช่วยกันคิดช่วยกันทำหาวัสดุอุปกรณ์มาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม จนมีเสื้อผ้ามาใส่กัน ซึ่งทีแรกเสื้อผ้านั้นก็เป็นของหยาบ ๆ ไม่ได้มีความปราณีตใด ๆ และสิ่งที่จำเป็นต่อไปอีกก็คือที่อยู่อาศัย บางคนก็ไปอาศัยเอาในโพรง ตามโคนต้นไม้ ตามหลุม ตามถ้ำบ้าง แยกย้ายกันไปอยู่ ถึงเวลาพวกเขาก็จะมารวมตัวกันเพื่อคอยช่วยเหลือกัน
ในตอนแรกนั้น มนุษย์เหล่านี้ยังไม่มีความโหยหิว เพราะมาแรก ๆ นั้น จิตใจมันโปร่ง แต่พอจิตใจของพวกเขามีความหมกมุ่น มีความครุ่นคิด มีความอยากได้ไอ้โน่นไอ้นี่เข้ามาเรื่อย ๆ เข้า จิตมันเศร้าหมอง ก็ทำให้บังเกิดความหิวขึ้นมา เมื่อเกิดความหิวขึ้น เขาก็รู้โดยสัญชาติญาณเดิมในการเป็นลิงมาเมื่อชาติก่อน ว่าพวกเขาสามารถจะกินผลไม้ได้ เขาก็ไปหาผลไม้กิน และก็มีความเป็นอยู่แบบนั้นมาเป็นเวลาหมื่นปีเศษ อยู่แบบมีความเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันเป็นอย่างดี เป็นมิตรต่อกัน


แต่ต่อมานาน ๆ เข้า เมื่อต่างคนต่างก็มีการพัฒนาตรงนั้น ปรับปรุงตรงนี้ สร้างที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีความสวยงามแตกต่างกันไป คนนั้นทำดี คนนี้ทำสวยกว่า ทำให้ความน่าอยู่ไม่เท่ากัน ต่างคนต่างก็มีความคิดในการเลือกวัสดุ เลือกทำเล การตกแต่งที่อยู่อาศัยที่ต่างกัน มันก็เลยทำให้ เกิดความเหลื่อมล้ำต่อกัน เกิดความอยากจะได้อย่างนั้นบ้าง เกิดตัณหา (ความอยาก) ก็มีคนหนึ่งอยากจะมีบ้านที่สวยงามให้เหมือนกับบ้านของคนที่ทำเก่ง ๆ บ้าง แต่ตัวเขามีความรู้ความสามารถที่จะสร้างบ้านได้ไม่ดีเท่า เขาก็เครียด หนัก ๆ เข้าก็ไปขอร้องให้คนที่เป็นเจ้าของนั้นทำให้ เขาก็บอกว่าจะสอนวิธีทำให้ และก็พยายามสอนให้ แต่ไอ้คนนั้นมันไม่มีความถนัดในงานช่าง ก็เลยไม่สามารถจะทำออกมาให้สวยแบบที่ต้องการได้ ก็เลยโมโห เขวี้ยง ขว้าง ปา สิ่งของต่าง ๆ ลงพื้น ซึ่งนับว่า เป็นคนแรกในกลุ่มฝูงลิงที่มาเกิดเป็นคนที่แสดงอารมณ์โกรธให้ คนอื่นได้เห็น คนอื่น ๆ เขาก็ตกใจว่าอีตานี่เป็นอะไร ต่างคนต่างก็เข้าไปถามตาคนนี้ว่าเป็นอะไร เพราะว่าไม่เคยเห็นว่ามีใครทำกิริยาอาการแบบนี้ อี ตาคนที่แสดงความโกรธก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเขาเป็นอะไร ไม่เข้าใจ ว่าทำไมเขาจึงไม่สามารถยับยั้งการแสดงอาการและอารมณ์แบบนี้ได้ พอเขาสงบใจลงได้แล้ว เขาก็ยังมานั่งมองบ้านอยู่อีก แล้วก็มาคิดสงสัยอีกว่าทำไมเราทำไม่ได้ เราอยากได้แต่เราทำไม่ได้ เราต้องไปขอร้องเพื่อนให้มาทำให้เราหน่อย เพื่อนก็บอกว่าจะแนะนำวิธีทำให้ แต่อีตานี่ไม่ยอม บอกว่าจะให้เพื่อนทำให้เลย เพื่อนเขาก็ยอมทำให้ พอทำออกมาก็ปรากฎว่าสวยไม่เท่ากับของตัวเอง อีตานี่ก็โกรธ ต่อว่าเพื่อนว่าทำไมเธอทำอย่างนี้ ทำไมเธอไม่ทำให้สวยเหมือนของเธอ ทำไมทำของเธอดี ทำของฉันไม่ดี ความไม่อยากได้ในสิ่งที่มีแต่อยากได้ในสิ่งที่ไม่มี เกิดไฟรุ่มร้อนอยู่ภายใน มีคำพูดคำจาที่มีความรุนแรงมากขึ้น นับวันก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้น ๆ เขาจึงกลายเป็นแกะดำในฝูง และ ก็มีคน ๆ หนึ่งพูดออกมาในที่ประชุมว่าเป็นมนุษย์มีความสุขแบบนี้หรือ นี่ หรือคือความเป็นมนุษย์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ที่เจริญแล้วด้วยเมตตาปรานีต่อกัน เกื้อกูลสงเคราะห์กัน แต่ทำไมในวันนี้ เรากลับเห็นภาพที่ไม่ใช่แบบที่ท่านผู้นั้นพูดเอาไว้เลย เกิดความลังเลสงสัยในการปฏิบัติแล้ว วิจิกิจฉาเกิดแล้ว


พญาวานรผู้นั้นไม่ได้ห่างจากคน เหล่านี้เลย ท่านก็พยายามคอยเฝ้าดูว่า คนเหล่านั้นจะมีการกระทำคิดเห็นเยี่ยงไรอยู่ห่าง ๆ จนนาน ๆไปเข้า อี ตาคนที่แสดงอารมณ์โกรธนี้ ก็เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางหยาบขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีความอยากกินเนื้อสัตว์ กินของสด ทำให้จิตมีความหยาบมากขึ้น ซึ่งเป็นเพราะอาหารนั่นเอง เพราะถ้า กินแต่ผักผลไม้ อารมณ์ใจจะดี ไม่รุนแรง สงบ สามารถควบคุมตัวเองได้ดี แต่ถ้ากินเนื้อสัตว์ มันจะไปส่งผลต่อร่างกาย จะทำให้ความหยาบของจิตหนักขึ้น ลองสังเกตดูพวกคนกินเจ ผิวพรรณจะผ่องใส อารมณ์ใจเขาจะดี จะไม่มีความรุนแรง และคนที่เขารักษาศีล ๘ ที่ไม่กินอาหารมื้อค่ำก็เพราะมีเหตุผลบางส่วนในเรื่องนี้ด้วย คือถ้าหากว่ากินเข้ามื้อเย็นเข้าไป มันจะมีผลไปกระตุ้นอารมณ์ทางจิตใจ มักใหญ่ใฝ่สูง เกิดความโลภทางจิตใจ มักมีความครุ่นคิด กระสับกระส่าย ถ้าได้เห็นได้รู้อะไรมันก็จะควบคุมใจได้ยาก
ชาย ผู้นี้ที่กินเนื้อสัตว์เข้าไปก็เช่นกัน เขามีความระงับใจได้น้อยลง ควบคุมตัวเองได้ยากขึ้น พอใจในของสิ่งใดเข้าก็ยั้งใจไม่ได้ เริ่มเข้าไปยื้อแย่ง เข้าครอบครอง ปรารถนาสมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน ใครไม่ให้เขาก็ประทุษร้ายเอา ด้วยอาวุธที่เขาทำเพื่อไปล่าเนื้อสัตว์ คนอื่น ๆ ก็หลีกหนีเขาเพราะไม่อยากถูกทำร้าย เพราะพวกเขากำลังเจริญพรหมวิหารสี่ (เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา)อยู่ อีตานี่ก็เลยต้องอยู่คนเดียว ไม่มีใครยอมคบหาด้วย แกก็เลยเริ่มหาพรรคพวกเพื่อนพ้องให้เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกของตน ด้วยการใช้วาจาคำพูดเชิญชวนให้เห็นข้อดี ความสุข ความสบายจากการกระทำแบบของเขา ก็เลยมีคนเริ่มเห็นดีเห็นงามตามเขาไปด้วย ก็เลยกลายเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่เจริญพรหมวิหารสี่กับฝ่ายที่เบียดเบียน ซึ่งโลกนี้มีของคู่กันเสมอนะ มันคือความจริง ทั้งที่เริ่มจากจิตที่ดีเหมือน ๆ กันแท้ ๆ


พอฝ่ายพวกประทุษร้ายนั้นมีจิตที่มี ความเศร้าหมอง อายุของพวกเขาก็สั้นลง ซึ่งที่จริงแล้วพวกเขาสามารถมีอายุขัยได้ ๘๐,๐๐๐ ปีเป็นอย่างน้อย แต่ก็ลดลงมาเหลือแค่ ๔๐,๐๐๐ ปีเท่านั้น ร่าง กายของเขาเสื่อมโทรมเร็วขึ้นจากการที่พวกเขาประพฤติตัวแบบนี้ ที่เขามีความหมกมุ่น จิตใจหม่นหมองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
มนุษย์ทั้งหมดนี้ก็ถูกแยกออกเป็น สองฝ่าย เหมือนกับแบ่งแยกออกเป็นประเทศ ต่างคนต่างกินอยู่ปกครองตามแบบของตน ต่างฝ่ายต่างก็แยกกันอยู่ไม่วุ่นวายต่อกันมาได้เพียงแค่ ๑๐,๐๐๐ ปีเท่านั้น ซึ่งในระหว่างที่ต่างฝ่ายต่างแยกกันอยู่นั้น ฝ่ายที่เจริญพรหมวิหารสี่ ก็ได้มีการก่อสร้างบ้านเรือนที่สวยงามมากขึ้นเรื่อย ๆ มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่สวยงาม มีเมืองที่สวยงาม มีพืชพันธุ์ธัญญาหารผัสสาหารบริโภคมากขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ฝ่ายประทุษร้ายนั้น ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการสร้างสรรค์หรือพัฒนาใด ๆ ขึ้นเลยทั้งสิ้น มีแต่ทำลาย แล้วก็บริโภคอย่างเดียว เพราะทำไม่เป็น เอาแต่ขี้โม้โอ้อวดกันไป ไม่มีวิชาการฝีมือใด ๆ สร้างแต่อาวุธมาเพื่อฆ่าสัตว์ตัดชีวิต


ถึงวันหนึ่งฝั่งที่ประทุษร้ายก็คิดจะครอบครองอีกฝ่ายเพราะ ฝ่ายโน้นมีธัญญาหารสมบูรณ์ดี มีบ้านเรือนสวยงาม มีความเป็นอยู่ที่ดี จึงคิดจะไปเอาของเขา แล้วไล่ให้มาอยู่ฝั่งของตนแทน พวกเขาก็เลยไปโจมตีไปขับไล่จนสำเร็จ เพราะฝ่าย ที่เจริญ พรหมวิหารสี่นั้นไม่คิดจะต่อสู้อะไร ไม่มีอาวุธจะต่อสู้ ก็เลยต้องหนี ปล่อยให้พวกนั้นมาครอบครองที่ของตนไป ส่วนตนเองก็ไปสร้างใหม่ แต่ไอ้ฝ่ายประทุษร้ายเมื่อเข้าไปครอบครองที่แล้ว ก็ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกเลย ได้แต่กินได้แต่ใช้ไปเรื่อย ๆ นานเข้า ๆ มันก็หมดไป ๆ แล้วก็ตามไปตีอีกฝ่าย เพื่อที่จะยึดครองทรัพย์สินสิ่งของของเขาอีก แล้วคน ที่เคยมีความรู้สึกว่าเป็นมนุษย์นั้นดี จะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้อย่างไร ว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้ประเสริฐ ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดกาล เพราะว่าเขาไม่แน่ใจแล้วว่า มันจะเป็นอย่างนั้นได้จริงในดินแดนของการเกิดมาเป็นมนุษย์บนโลกนี้ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นมา เพราะพวกเขาไม่รู้ ไม่เข้าใจ เนื่องด้วยว่าเพราะทีแรกนั้นฝ่ายที่ประทุษร้ายนั้น เขาก็เป็นเหมือน ๆ กับฝ่ายที่เจริญพรหมวิหารสี่ คือเกิดมาเหมือนกัน ปฏิบัติกันมาด้วยกัน มีความตั้งใจประพฤติตนเป็นมนุษย์ เพื่อความเป็นสิ่งประเสริฐอยู่ มาด้วยกันแท้ ๆ แต่กลับมีความประพฤติที่แตกต่างกันไปอย่างเห็นได้ชัด มันเกิดจากอะไรกัน? พวกเขาหาคำตอบไม่ได้ เพราะ คนเหล่านั้นไม่สามารถจะรู้ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น รู้อยู่อย่างเดียวว่ามันไม่มีความสงบในใจ แม้สงบได้ก็ไม่นาน ถึงแม้จะได้อยู่กับคนที่ดีเหมือนกัน แต่ก็สงบไม่ได้เพราะถูกคนพาลรังแก มันก็หนีไม่พ้น เหมือนกับพวกเราที่ไม่ว่าเราจะดีแค่ไหนเราก็หนีคนพาลไม่พ้น ถึงจะมีคนอื่นมาชื่นชมยินดีกับเรา แต่มันก็ยังมีคนมาติคนมาว่าเราอยู่ดี มีคนชอบก็มีคนเกลียด มันเป็นเรื่องที่ปกติของโลกเรา สาเหตุนั้นมันไม่ได้เป็นเพราะคน


ลองคิดดูซิ ว่าเหตุที่ทำให้คนต้องมาเป็นคนเลวนั้นมาจากไหน ถ้านิทานเรื่องนี้จะทำให้เธอเห็นเหตุผล ของคนที่ต้องเป็นคนเลวว่าคืออะไร อาหารใช่ไหม อาหารเป็นเหตุของความชั่ว ถ้าร่างกายนี้ไม่ต้องการอาหาร คนทุกคนในเรื่องนี้จะไม่เดือดร้อนเลยใช่ไหม ถ้ามองแค่ผิวเผิน ไม่ต้องมองลึก เราก็สามารถเห็นได้ว่า เพราะว่าคนเหล่านี้เขามีความหมกมุ่นครุ่นคิดมากจนต้องกินอาหาร แล้วอาหารบางอย่างมันทำให้ร่างกายมันแปรปรวน จิตก็เลยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ดีนัก เพราะว่าถูกอาหารและร่างกายเป็นนาย แล้วก็ความที่มันไม่สม่ำเสมอ ไม่แน่นอน ไม่เที่ยง ที่จริงใช้คำว่าไม่เที่ยงน่ะมันถูกตามหลักธรรม ที่จริงก็คือมันไม่เที่ยง ถ้าหากเกิดมาแล้วมันแน่นอน คือจิตของคนมีความแน่นอน โลกนี้ก็จะไม่มีความทุกข์ เกิดมาทุกคนก็จะดีหมดทุกคน ดูอย่างในครอบครัวซิ ลูกก็จะดีหมดทุกคน ดีเหมือนกัน เข้าใจกัน ประพฤติตนเหมือนกัน มีความสุขเหมือนกัน แต่ที่จริงมันไม่เป็นเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่เกิดมาพ่อเดียวกันแม่เดียวกัน สิ่งแวดล้อมเดียวกัน แต่ก็เป็นคนละแบบ แล้วก็สร้างแต่ปัญหา มีความหยาบความละเอียดต่างกัน มีตัณหา (ความอยาก) ต่างกัน คุณธรรมต่างกัน จิตถูกฝึกมาต่างกัน ดังนั้นการที่เรามาอยู่ด้วยกัน มันจะไม่มีคนพาลไม่มีคนดีได้อย่างไร มันก็เป็นของคู่กันนั่นล่ะ แล้วที่ใดที่มันมีสองอย่างอยู่ในที่เดียวกันที่นั่นจะมีแต่ทุกข์ มีแต่นิพพานเท่านั้นที่มีอย่างเดียว เลยไม่ทุกข์ บนสวรรค์ก็มีสองอย่างก็คือ เทวดาที่เป็นพาลกับเทวดาที่ไม่เป็นพาล ในพรหมโลกก็มีทั้งที่เป็นพาลและไม่พาล แต่ที่นิพพานนั้นมีอย่างเดียว ที่ใดที่มีอยู่อย่างเดียวที่นั่นเป็นสุข เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา ที่อื่น ๆ นั้นเป็นที่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (ไม่เที่ยงไม่มีความแน่นอน มีแต่ความทุกข์ และมีความเสื่อมสลายไป) นั่นคือกฎของโลก กฎของโลกสวรรค์ กฎของพรหมโลก ล้วนแต่ตั้งอยู่ในกฎเดียวกันทั้งนั้น ใครหลงเข้าไปก็จะต้องพบกับมัน ฉะนั้นใครจะบอกว่าโลกนั้นมีความเป็นสุขนั้นไม่จริง หาไม่ได้หรอกผู้ที่อยู่เป็นสุข ก็เหมือนอย่างกับในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าหากว่าเราดูตั้งแต่ทีแรก เราก็จะคิดว่าพวกเขาได้มาเกิดในที่ ๆ อุดมสมบูรณ์แล้วจะมีแต่ความสุขก็ไม่ใช่ มันไม่น่าเกิดปัญหา แต่มันก็เกิดปัญหา
!!!! ยังมีต่ออีกนะ

ดัง นั้นในคำว่าโลกนี้ ที่ไหนที่มีคำว่าโลกนั้นก็ไม่เป็นสุขใช่ไหมเจ้าคะ?(มีคนถามคำถาม)
ใช่แล้ว ไม่ว่าจะในโลกนี้ โลกสวรรค์ พรหมโลกต่างก็ต้องมีกฎแห่งไตรลักษณญาณ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) อย่างนี้เสมอ ดังนั้นที่ดินแดนแห่งนั้นก็ต้องมีความวุ่นวาย ไม่สุขจริง


แล้วภาษาที่เขาใช้กันนั้น ใช้ภาษาอะไรเจ้าคะ?
ละเอียด เจาะลึกจริง ๆ นะ เขาใช้ภาษาใจด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่สำเนียงที่ออกมามันต่างกันบ้าง เหมือนลิงที่มันสื่อสารกันน่ะล่ะ มันสื่อจากใจออกมาแล้วก็เข้าใจต่อกัน แล้วสำเนียงภาษามันจึงจะตามมาทีหลัง ดังนั้นในบางชาติก็จะมีความแตกต่างกันไปในเรื่องสำเนียงบ้าง รวมความแล้วเข้าใจใช่ไหม ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเรามาอยู่ในโลกนี้ที่เต็มไปด้วยอนิจจัง เต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยสิ่งที่มันต้องสลายหมดไป ความไม่เที่ยง(ความไม่แน่นอน) นั้นยังพอทนนะ แต่การหมดไปนี้สิมันแย่ เพราะต้องหามาใหม่


สงสัยว่าพญาวานรนั้นทำอะไร เจ้าคะ?
เขาก็ดูเฉย ๆ น่ะล่ะ ดูแล้วปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น ไม่ ไปฝืนอะไร เพราะมันเป็นความจริง ทุก ๆ ตัว ทุก ๆ คนต้องศึกษาเรียนรู้จากความจริง จะไปใช้อำนาจบังคับฝืนความจริง ให้พวกนั้นเขารอดพ้นจากความทุกข์ ก็เท่ากับว่าไปฝืนความจริง ไม่ให้พวกเขาได้เรียนรู้กับความจริง แล้วมันก็จะไปส่งผลให้พวกเขามีความพอใจยินดีในการเกิดเป็นมนุษย์ ฝังใจอยู่อย่างนั้น แต่เมื่อพญาวานรปล่อยให้มันเป็นไปเอง ไม่เข้าไปแทรกแซงช่วยเหลือใด ๆ ไอ้ ฝ่ายที่ฝัง ใจในการเกิดเป็นมนุษย์ก็คือคนพาล ที่มีความพอใจและยินดีในการเบียดเบียน และเสพสุขในโลก แต่ฝ่ายคนดีนั้นเริ่มที่จะไม่พอใจ ไม่ยินดีในความเป็นมนุษย์แล้ว แต่ไม่มีทางหนี ดังนั้น คนโง่จึงสามารถอยู่ในโลกที่วุ่นวายได้อย่างสบาย เพราะว่าเขาไม่สนใจว่ามันจะทุกข์ มันจะไม่เที่ยง มันจะเสื่อมสลายไปยังไง มันจะสกปรกแค่ไหน น่ารังเกียจเพียงใด เพราะสำหรับคนโง่คนพาลแล้วไม่สนใจ สนใจแต่ตัณหา ความอยากได้ อยากมี แม้แต่กับพวกเดียวกันก็ไม่ได้มีความรู้สึก ให้ความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน แต่ฝ่าย คนดีนั้นก็จะไม่คิดอย่างอื่น นอกจากเบื่อหน่าย สลดหดหู่ในจิตใจ อยากหนี อยากหลบ อยากหนีไปให้ไกล ๆ เหมือนกับที่พวกเขาหนีไปเรื่อย ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า มีคนตามมายื้อแย่งไปเรื่อย ๆ มันก็เบื่อใช่ไหม ? ถ้าเบื่อหนัก ๆ เข้า เขาก็ต้องเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงโดยคิดที่จะอยากต่อสู้ เห็นไหม เกมชีวิตมันเริ่มแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่เพราะคนหนึ่งตามล่าอีกคนถอยหนีแล้ว แต่ว่าคนที่ถอยหนีนั้นชักจะเริ่มเอือมระอากับการถอยหนี แล้วอยากที่จะต่อสู้ เมื่อ มีการต่อสู้ระหว่างกันและกันแล้ว ก็จะเกิดความอาฆาตพยาบาทเคียดแค้นกันและกันตามมา เป็นการผูกกรรมต่อกันก็เกิดชาติหน้าต่อไป ทีแรกน่ะเขาอาจจะไม่สนใจ ก็หนีก็คือหนี ไม่เป็นไร เขาไม่ตามมาก็จบไป ไม่ต้องตามมาผูกเวรต่อกัน แต่ ถ้าเปลี่ยนใจอยากจะสู้เมื่อไหร่ ก็ผูกเวรต่อกัน ชาติหน้าก็ต้องเกิดมาเจอกันแน่ ก็จะไม่เป็นมิตรต่อกันอีกเลย กลายเป็นศัตรูไป แม้ตอนแรกจะเป็นมิตร แต่ต่อมาก็ต้องเป็นศัตรูใหม่ และมันจะปลูกฝังเข้าไปชั่วลูกชั่วหลาน สอน ๆ ต่อกันไป ลูกเกิดมาก็ต้องสอนไป การคบคนเช่นใดมันก็เป็นเช่นนั้น คบคนชั่วก็กลายเป็นคนชั่วไป คบคนดีมันก็ดีไป แต่คนดีก็จำเป็นต้องรักษาหมู่คณะของตนเอาไว้ ก็ต้องต่อสู้ จากคนดีก็เลยกลายเป็นคนชั่วในสายตาของอีกฝ่ายไปโดยปริยาย คนชั่วที่ทำร้ายคนดีก็จะเป็นคนดีในสายตาของคนชั่ว โลกนี้มีอะไรที่มันแน่นอนบ้าง จนวันหนึ่งก็จะมีวันที่คนชั่วกลับใจเข้ามาทางฝ่ายคนดีบ้าง และก็มีวันที่คนดีกลับเห็นว่าการทำดีไม่ได้อะไร ก็จะไปเข้าฝ่ายคนชั่ว ถ่ายกันไปก็ถ่ายกันมาแบบนี้ กลับไปกลับมา ลูกน้องมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ทุกเมื่อ มีที่ไม่เปลี่ยนก็คือหัวหน้าคือผู้ต้นคิด คนเหล่า ๆ นั้นก็จะต้องมาเจอกันร่ำไป ต้องมาคลุกคลีต่อกัน ประทุษร้ายกัน รบกัน เดี๋ยวดีต่อกันเดี๋ยวร้ายต่อกัน มันไม่มีทางที่จะดีกันไปหรือร้ายกันไปตลอดได้หรอก


ดู อย่างในครอบครัวของเราสิ เดี๋ยวเราก็ดีกัน เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน ไม่ว่าจะพ่อกับแม่ ลูกกับพ่อ ลูกกับแม่ พี่กับน้อง ก็อยู่ในวงศาคณาญาตินี่ล่ะ เธอดู เถอะว่ามันเริ่มต้นมีกรรมต่อกันเริ่มที่หนึ่ง แล้วมันมีสองสามสี่ห้าต่อไปจนนับไม่ถ้วน กรรมมันนับไม่ถ้วน จนถึงจุด ๆ หนึ่งที่ทุกอย่างมันมารวม ๆ กันไปหมด มันก็กลายเป็นระลอก ๆ ไป กรรมอะไรเข้าก่อนกรรมอะไรเข้าหลัง รับไปเถอะ เกิดมารับแต่กรรม เกิดมาใช้เวรเกิดมาใช้กรรม เห็นมั้ย วงจรชีวิต กว่าเราจะถอดถอนอุปทานได้ กว่าเราจะละความพอใจและยินดีในการเกิดเป็นมนุษย์ได้ เธอลองคิดเถอะว่า เวลาเหล่านี้มีค่าไหม มีค่าทุกทีในการเกิด มันไม่ได้สูญเสียไปเปล่า แต่เป็นการสะสมสิ่งที่เรารู้มา ทำให้เวลาเราเจอผู้รู้ เราจึงเข้าใจง่าย อย่างพวกเธอฟังเรานี่ เข้าใจ เก็ท ใช่ไหม เอาไปทบทวนเถอะนะ ตั้งแต่เป็นลิงมา ไปไล่เอาเถอะ คนมันก็เป็นอย่างนี้ ตัณหา (ความอยาก) คือเหตุของความทุกข์ ถ้าเธอทบทวน ตั้งแต่ต้นมา จะเห็นว่ามันเป็นสายทางยาว ๆ มาแล้วทะลุเข้ามา เขาเรียกว่า ปฏิ จจสมุปบาท ความพอใจเกิดรูป คืออารมณ์ สัมผัส เกิดสิ่งที่รับรู้ พอใจไม่พอใจ เธอจะเห็นชัดเจนว่ามันมีอะไรในปฏิจจสมุปบาท ลงท้ายคือกรรมแล้วก็ย้อนมาใหม่ เป็นหนึ่งในอวิชชาที่ต้องละ เหมือน เธอฟังว่าเรื่องนี้มันดำเนินเรื่องมา ว่ามันกำเนิดมาจากความพอใจ อยากมีรูป อยากเป็นมนุษย์ พอใจในความเป็นมนุษย์ มันทำให้เกิดรูป เป็นที่ตั้งของรูป พอมีรูปแล้วมันเกิดอะไรต่อ เกิดความสัมผัสอยากรับรู้ในสิ่งที่เรามาเกิด แล้วมาเกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามมา จนเกิดตัณหา อุปทาน เกิดอกุศลกรรม ท้ายสุดภพชาติมันก็เกิดกันเรื่อยไป เห็นไหม มันผูกกันด้วยกรรม เกิดเพราะแรงกรรม มีกรรมเป็นตัวกำเนิด ทุกคนที่มาอยู่ด้วยกันแล้วก็มาฆ่ากันนั้น มันก็เพราะมีกรรมเป็นตัวกำเนิด เพราะเขาผูกใจด้วยอารมณ์ไม่ยินดี กับอารมณ์ที่ยินดี พวกเขาจึงต้องมาเกิดด้วยกัน เป็นกรรมพันธุ พวกที่มีความคิดเหมือนกันก็ไปอยู่ที่เดียวกัน พวกที่พอใจอีกที่หนึ่งก็ไปอยู่ด้วยกัน ก็เป็นแบบนี้ ดังนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ก็เป็นจริงดังนี้ เป็นไปแบบนี้ เป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ จบลงที่เรามีอวิชชา ความโง่ ถ้าเราละอวิชชาได้ก็จบ ไม่ต้องไปละกิเลสอะไรทั้งนั้น เพราะต้นตอมันอยู่ตรงนี้ เรื่องนี้เป็นของละเอียด พอเราหาต้นเหตุเจอเราก็ละไปที่ต้นตอเลยแล้วก็จบ


ปฏิจจสมุปบาท (เหตุที่เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ให้เกิดทุกข์และดับทุกข์)
  • ความ ไม่รู้อริยสัจ เป็นเหตุให้พอใจในมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก เพราะคิดเห็นว่า มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลกมีความสวยสดงดงาม เมื่อมีความพอใจในมนุษยโลก ก็คิดอยากเกิด จึงเป็นเหตุให้จิตวิญญาณเข้าปฏิสนธิในครรภ์
  • เมื่อจิต วิญญาณเข้าปฏิสนธิในครรภ์แล้ว ก็เกิดมีรูปนามคือร่างกาย เมื่อมีร่างกายแล้วก็เกิดมีอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท และใจ
  • เมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท และใจแล้ว ก็ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและเรื่องราวต่าง ๆ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาคือ ความรู้สึกที่เป็นสุขและความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หรือรู้สึกเฉย ๆ
  • เมื่อมี เวทนาคือความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ แล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุด และตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดนี้เป็นปัจจัยให้เกิดอุปทาน สิ่งที่ชอบก็ยึดว่าดี น่ารัก น่าปรารถนา สิ่งที่ไม่ชอบก็ยึดถือว่าไม่ดี ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา
  • เมื่อมี อุปทานที่ยึดถือว่าสิ่งนั้น ๆ ดีและไม่ดี น่ารัก น่าปรารถนา น่าเกลียด น่าชัง เป็นปัจจัยให้เกิดภพ คือที่อันเป็นที่เกิดและเป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ เมื่อมีภพคือที่อันเป็นที่อยู่แล้ว จึงทำให้มีความเกิดไม่มีสิ้นสุด
  • เมื่อมี ความเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีความแก่และความตายตามมา และมีความเศร้าโศกคิดถึงสิ่งอันเป็นที่รัก มีความร่ำไรรำพันใฝ่ฝันหาสิ่งอันเป็นที่รัก มีความทุกข์เพราะความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก และเพราะไม่สมหวังในสิ่งที่หลงรักหลงชอบใจ มีความเสียใจที่ต้องหมดหวังในการที่จะได้สิ่งอันเป็นที่รักนั้น
  • ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้นก็ มีด้วยอาการอย่างนี้แล
Posted by Mr.Phrase on 11/22 at 11:44 PM
(0) Comments • (0) TrackbacksPermalink

พ่อนก

ใน ยามท้องฟ้ามันครึ้ม ก็มีแม่นก พ่อนก ลูกนกอีก ๔ ตัว มันจะบินกลับบ้านเพราะรู้ว่าฝนฟ้าจะตก มันก็รีบกลับบ้านเพราะรู้ว่าไม่ปลอดภัย ในระหว่างที่บินอยู่นั้นเอง ก็มีลมหมุนมาพัดทำให้ทั้งพ่อนก แม่นก ลูกนกพลัดหลงกันไปคนละทาง ลูกบินกลับบ้านไม่ถูกเพราะไม่รู้ทาง ต้องให้พ่อแม่นำไป แม่อยากจะบินกลับบ้าน ก็ไปไม่ได้เพราะห่วงลูก ก็ต้องบินเที่ยวหาลูก ส่วนพ่ออยากจะบินกลับบ้าน ก็บินไปไม่ได้เพราะต้องห่วง บินเที่ยวหาเมียหาลูก แสดงว่าแม่นี่ลำเอียง แม่เอาแต่ลูก ส่วนพ่อเอาทั้งแม่ทั้งลูก พ่อรักมากกว่าใคร ใช่มั้ย ทีนี้ลูก ๔ ตัวก็กระเด็นไปคนละทิศละทาง ไม่มีใครเจอกันเมื่อฟ้าเริ่มสงบ ลูกต่างคนต่างก็กระเด็นไปอยู่คนละทิศละทาง ต่างคนก็ต่างไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ กัน ชีวิตแต่ละชีวิตที่เคยอยู่ด้วยกันนั้นมันเหมือนกับเริ่มต้นใหม่ ในตอนต้นนั้น ทั้งพ่อและแม่ต่างคนก็ต่างอยู่ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ต่อมาก็มาผูกสมัครรักใคร่ มาเป็นสามีภรรยากัน แล้วก็สร้างรังอยู่ด้วยกัน แล้วก็มีลูกน้อยออกมา ๔ ตัว แล้วก็เตรียมอยู่ด้วยกัน ช่วยกันทำมาหากิน ก่อนจะมีลูก แม่ก็เตรียมกกไข่ พ่อก็คอยเตรียมหาอาหารมาให้ภรรยา แต่คนท้องก็หงุดหงิด นกท้องก็หงุดหงิดเหมือนกัน พ่อก็ต้องคอยเอาใจ หาเกสรดอกไม้หอม ๆ มาฝากภรรยาคอยเอาใจ ภรรยาก็ยิ้มหวานคอยดูแลลูก และก็ผลัดกันออกไปหาอาหารให้อีกฝ่ายเฝ้าลูก ต่างคนก็ต่างสามัคคีกัน จนลูกฝึกบินได้ เที่ยวบินออกไปจนโต


ที นี้ก็มาวันหนึ่ง ก็ต้องพลัดพรากจากกันเหมือนเริ่มต้นใหม่ ผู้เป็นพ่อก็อยู่ที่หนึ่ง อยู่คนเดียว ผู้เป็นแม่ก็อยู่ที่หนึ่ง อยู่คนเดียว ผู้เป็นลูกก็อยู่คนเดียว เกิดมาคนเดียว ท่องเที่ยวไป ทีนี้นก ๔ ตัวสาบานกันไว้ว่า เราจะตายพร้อมกันในสมัยเป็นมนุษย์ แต่พ่อกับแม่ไม่ได้สาบานกันไว้ ผู้เป็นพ่อก็เที่ยวตามหาแม่กับลูก ผู้เป็นแม่ก็เที่ยวตามหาลูก แต่หาไป ๆ ก็ท้อ ท้อนักก็เลยหาผัวใหม่ ไปเจอนกเพศชายเข้าก็เลย เอาเถอะวะอย่าไปหาลูกหาเต้าอะไรอยู่เลย หาสามีใหม่หาลูกใหม่เถอะวะ ส่วนผู้เป็นพ่อนั้นไม่หาเมียใหม่ เที่ยวหาแต่ลูกแต่เมีย บินตั้งแต่ปีกยังอ่อน ๆ จนปีกแข็ง จนขนผิวที่เคยมีสีสัน ที่มีขนเงางาม กลับแข็งกระด้างลงทุกวัน บินมันอยู่อย่างนั้น เที่ยวหาไป ตั้งใจจดใจจ่อ เที่ยวจะหาลูกหาภรรยาไป ส่วนผู้เป็นลูกทั้ง ๔ ก็มีอยู่ทางเดียว ก็คือต้องเอาตัวให้รอด เพราะว่ายังเล็กนัก ปีกเค้ายังไม่แข็งพอที่จะบินไปได้ไกล ๆ และสัตว์ร้ายมันก็มีอยู่เยอะ ศัตรูที่ไม่รู้จักก็มาก ต่างคนก็ต่างต้องพยายามเอาตัวรอด แต่ว่าบุญที่เค้าทำมาหนะมันมี เพราะเค้าไม่ค่อยได้ทำปาณาติบาตอะไร บุญเค้าก็ยังมี ไปที่ไหนก็รอดพ้นอันตรายไปได้ เจ้าลูกนกทั้งสี่ตัวนี้ มีข้อรัดวงแหวนที่ขาเป็นสัญลักษณ์ ที่พ่อนกจะจำได้ทันทีหากเจอลูก ลูกตัวหนึ่งบินไปอยู่ในถ้ำที่มีพญานกแฝกอยู่ อีกตัวนึงบินไปอยู่ในที่ที่เป็นโพรงไม้ ที่มีพญาอินทรีย์อยู่ อีกตัวบินไปอยู่ในป่าที่มีใบไม้หนาทึบ ก็ไปเจอนกเค้าอยู่ อีกตัวนึงไปตกอยู่บนพื้นดินที่มีพญาเต่าอยู่ ทั้งสี่ตัวก็ใช้ชีวิตอยู่กับสัตว์เหล่า ๆ นี้ ไม่มีใครทำร้ายเค้า เพราะว่าเค้าไม่เคยทำร้ายใคร เค้าก็เลยอยู่กับสัตว์ต่างเผ่าพันธุ์ได้ สัตว์ต่าง ๆ ก็เอ็นดู คอยช่วยเหลือดูแลเค้า ก็เลยอยู่กับพวกเค้าไป เพราะหมดทางที่จะบินไปหาใครได้




แต่ผู้เป็น พ่อนั้นไม่เคยละวาง เที่ยวบินหาไปตลอดเวลา ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน นอนก็นอนแป๊บเดียว เที่ยวบินไปซ้ายขวาหน้าหลัง ปากก็ร้องหา ภรรยาของเราอยู่ที่ไหนหนอ ลูกของเราอยู่ที่ไหนหนอ ทำอยู่อย่างนี้ เพียรทำอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่า ไม่เคยห่วงใยอาลัยในสังขาร ไม่สนใจอาหาร ไม่สนใจการหลับการนอน สนใจแต่เพียงว่าลูกของเราอยู่ที่ไหน ภรรยาของเราอยู่ที่ไหน เค้าจะมีสุขทุกข์อย่างไร เค้าจะเป็นอยู่อย่างไร แต่รู้ว่าทั้ง ๕ จะยังไม่ตายแน่ ยังไงก็ไม่ตายแน่ เค้าเชื่อว่าเค้าจะยังได้พบ จนวันหนึ่ง เค้าไปพบภรรยาของเค้า เค้าดีใจนะที่ได้พบ แต่เค้าก็ยั้งใจที่จะไม่เข้าไปใกล้ เพราะเค้ารู้ว่าภรรยาของเค้ากำลังมีความสุข เค้าจึงคลายใจว่า เราไม่ห่วงอีกแล้ว เราไปหาลูกของเราเถอะ เรายังไม่รู้ว่าลูกของเราเป็นอย่างไร เค้าก็บินไปตามหาลูกต่อไป ปีแล้วปีเล่าก็บินไป




ทีนี้ว่าจู่ ๆ มันก็มีลมแรง ๆ มาจากทิศไหนก็ไม่รู้ พัดเค้าบินมาตก ปรากฏว่าเค้าได้เจอกับลูกคนแรกของเค้าที่อยู่กับเต่า เค้าจำได้ ลูกก็จำได้ว่าคือพ่อ เค้าก็ดีใจ แล้วก็ถามทุกข์สุขกันไป เจอแม่มั้ย พ่อก็นิ่ง ไม่พูดอะไร กลัวลูกเสียใจ ขืนบอกว่าเจอแม่มีผัวใหม่ ลูกก็จะเศร้าใจ ก็ไม่พูดอะไร บอกว่ายังไม่เจอเลยลูกเอ๊ย แต่เชื่อว่าแม่เค้าคงมีความสุข อยู่ในที่ปลอดภัยแล้วล่ะ ไปตามน้อง ๆ กันเถอะ แล้วก็ไปกันสองตัว ต่างคนก็ต่างบินไป ก็เที่ยวหาไป ผู้เป็นลูกก็ไม่ได้มีความตั้งใจอย่างพ่อ ก็บินไปอย่างนั้น ความอดทนก็ย่อมน้อยกว่า ผู้เป็นพ่อก็ต้องคอยประคับประคองความคิดของลูกไปตลอด ”พ่อ เหนื่อยแล้ว พ่อ หิวแล้ว กินก่อนเถอะนะพ่อ หยุดซะทีเถอะ พ่อเหนื่อยแล้ว พักก่อนเถอะนะ” อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ผู้เป็นพ่อรู้ว่า ลูกของตนมีความเข้มแข็งอยู่น้อย ความตั้งใจมั่นยังไม่เหมือนเค้า แต่เค้าก็เชื่ออยู่ว่า ลูกเรายังต้องการพบพี่พบน้อง แต่ในความอดทนของเค้ายังมีน้อย ก็ได้แต่พูดให้กำลังใจว่า ลูกนะ เรามีกันแค่นี้นะ คนอื่นหนะเค้าก็ไม่ใช่เป็นพี่น้องกับเรา เค้าจะมายินดีอะไรกับเรา ถ้าเราตามเค้าไม่พบก็ถือว่ามันสุดวิสัย แต่ในเมื่อเรายังไม่ตาย เรายังมีปีก ๒ ข้างบินไปได้ วันหนึ่งก็ต้องหาเค้าเจออย่างที่พ่อมาเจอลูกไง พ่อก็พยายามเข็น รู้ไหม ทำไมเค้าเอาลูกไปด้วย ที่เค้าพูดกับสิ่งที่เค้าคิดหนะ มันไม่เหมือนกัน ที่เค้าพูดหนะ เค้าพูดตามกำลังใจของลูก แต่ที่เค้าคิดหนะ คือเค้าต้องการสอนลูกให้มีความเพียร และตั้งใจอดทน ทำอะไรก็มั่นคง ไม่ใช่มีความต้องการปรารถนาจะเจอลูกอย่างเดียว แต่ว่าในการลงมือทำ มันไม่ได้ทำได้เหมือนที่ใจอยากจะเจอ นี่คือเจตนาของพ่อนะ ไม่ใช่เจตนาที่อยากให้ลูกได้มาพบกันเหมือนที่พูดกับลูกไป พ่อตั้งใจอย่างนั้น ก็พยายามเลี้ยงกำลังใจ อดทน อดทน ลูกก็ป้อแป้ ป้อแป้ กำลังใจไม่เท่าพ่อ ไปเดาะแดะ ๆ คือมันไปมั่ง ไม่อยากจะไปมั่ง คือมันไม่อยากจะไปน่ะ มันไกล มันไม่มีทิศมีทาง มันลำบาก ใจก็คิดถึงลุงเต่า ๆ ห่วงลุงเต่า ”พ่อ ลุงเต่าจะอยู่ยังไง ท่านอุปการะหนูมานะ” ผู้เป็นพ่อก็คิดว่าลูกของเราคงกำลังใจแค่นี้ เราอย่าฝืนใจเลย ก็เลยบอกกับลูกว่า ได้ลูก เดี๋ยวพ่อไปส่ง ผู้เป็นพ่อก็บินไปส่ง บินกลับไปอีกเป็นเดือนนะไปส่ง เดี๋ยวเมื่อไหร่พ่อเจอน้อง ๆ แล้วจะพามาหาหนูนะ




แล้วพ่อก็บินไป ๆ เรื่อย ๆ แล้วก็มีลมแรง ๆ วูบหนึ่งพัดเข้ามาอีก เค้าก็พุ่งหลาวลงไป ก็ไปเจอเอาต้นไม้ใหญ่ ๆ แล้วก็ไปเจอเอาลูกอีกตัวหนึ่ง ที่อยู่กับพญานก ลูกก็จำพ่อได้ พ่อก็ชวนเหมือนที่ชวนลูกคนโตว่า ”ไปนะ ไปหาพี่กัน พ่อรู้ว่าพี่ชายหนูอยู่ไหน พ่อเจอพี่เค้าแล้ว” เค้าก็ไป ตามพ่อไปหาพี่ชาย แต่ก็ไปได้แค่ครึ่งทางเท่านั้นก็บอก ”ไม่เอาแล้วพ่อ มันเหนื่อย ไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรกิน อยู่ที่นี่สบายเหลือเกิน ลุง ๆ น้า ๆ ให้อาหารการกินสบายเหลือเกิน แล้วหนูก็มีเพื่อน ๆ เยอะด้วย ไปหาพี่ มีก็มีแต่พี่คนเดียว” เอ้า พ่อก็ไปส่งกลับ บินกลับไปอีก




ลูก ทั้งสี่ตัวก็ไม่มีตัวไหนยินดี ไม่มีความยินดี ไม่มีความตั้งใจเหมือนอย่างผู้เป็นพ่อ ผู้เป็นพ่อก็พบสัจธรรมความเป็นจริง ก็บินถลาออกจากนอกพื้นที่ บินไปอย่างไม่มีทิศทาง ตั้งใจว่าเราจะพาตัวเราไปด้วย กำลังแห่งปีก สัจธรรมนี้คือความจริง เราได้พบแล้วว่า เราไม่อาจจะเอากำลังใจของเรา ไปให้คนอื่นเป็นได้อย่างเรา เขาคือเขา เราคือเรา เราคือตัวเรา เขาคือตัวเขา ถึงจะเอาความรักเข้าไป เค้าก็ไม่อาจทำกำลังใจ ได้เหมือนอย่างที่เรามีกำลังใจ ไม่มีสิ่งใด ๆ จะทำให้ใจดวงอื่นจะทำได้เยี่ยงอย่างเรา นอกจากตัวของเค้าเองมีความปรารถนาด้วยตัวเอง ในระหว่างที่เค้าบินไปนั้น เค้าก็ถือตั้งสัจจะวาจาว่า ในสัจจะแห่งเราผู้มีความเพียรอันแน่วแน่ว่า ด้วยความเพียรอันแน่วแน่ของเรานี้ ขอเราจงได้พบกับที่ที่เราคุ้นเคยเถิด ขอให้ปีกของเราจงมีกำลังเข้มแข็ง บินจากนี้ไปโดยไม่รู้จักเหน็ดหนื่อย เค้าก็บินไป บินไปโดยที่ไม่มีการพักผ่อน แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเลย




จนล่วงเวลาไป ๑๐ ปี เค้าก็ยังบินไม่หยุดจนไปถึงที่ที่หนึ่ง ที่เป็นเกาะร้าง ไม่มีมนุษย์อยู่ เค้าก็บินไป ใจก็คิดว่าอยากจะไปอยู่ตรงนั้น แล้วก็พุ่งตัวไป ที่นั่นไม่มีสัตว์ แต่มีรุกขเทวดาอยู่หลายองค์ พอไปอยู่ที่นั่นปั๊บ เค้าก็รำพึงรำพันอยู่ในใจของเค้า หวนคิดถึงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองตั้งแต่ต้นมา เค้าเป็นผู้เดียวคนเดียว แล้วเค้าก็บินอยู่คนเดียว พลัดพรากจากผู้เป็นที่รักอยู่ผู้เดียว จากนกที่เป็นคู่ของเค้า นกก็รำพึงรำพันอยู่ในใจของเค้า ไม่ได้พูดอะไรออกมาหรอก เพียงแต่ใช้จิตรำพึงรำพัน แต่รุกขเทวดานั้นมีความเป็นทิพย์ ล่วงรู้ว่านกนั้นคิดอะไร เค้าคิดคำนึงตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลางและที่ สุด สุดท้ายก็มีเพียงเราแต่เพียงผู้เดียว สิ่งที่ทำมาทั้งหมด ได้แก่เราแต่เพียงผู้เดียว ความเข้าใจหรือกำลังใจที่เรามีความเพียรแก่กล้า ก็มีแก่เราเพียงผู้เดียว ความอดทนก็ได้แต่เราเพียงผู้เดียว ไม่ได้แก่ใคร เค้าจึงพูดได้ว่าเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้วหนอ เค้าก็พูดดัง ๆ ออกมาว่านี่คือสัจธรรมความจริงที่ปรากฎแก่เราแล้ว รุกขเทวดาก็สาธุ สาธุในธรรม


พอ สาธุปั๊บ นกก็เอ๊ะใจ ก็แว้บหันไปดูว่าใคร ก็เห็นรุกขเทวดา
นกก็เลยพูดถามในใจว่า “ท่านผู้เจริญท่าน สาธุอะไร ท่านดีใจเรื่องอะไร”
รุกขเทวดาที่เป็นผู้ใหญ่ในที่นั้น ก็บอกว่า “เราสาธุที่ท่านเห็นความจริง”
นกก็เลยเอ่ยถามว่า “แล้วท่านไม่เคยเห็นความจริงเช่นนี้รึ”
รุกขเทวดาก็ตอบว่า “เรายังไม่เคยเห็นความ จริงเช่นนี้เลย เรายังไม่เคยเห็นใครกล้าพูดคำนี้ออกมาอย่างเต็มปากเต็มคำเช่นนี้เลย”
นกก็เลยถามว่า “แล้วท่านพอใจสัจธรรมข้อไหน ล่ะ”
แล้วรุกขเทวดาก็ตอบว่า “เราพอใจในความเพียรของท่าน”
อีกองค์ก็บอกว่า “เราพอใจในความรักของท่าน”
อีกองค์ก็บอกว่า “เราพอใจในความอดทนของ ท่าน”
อีกองค์ก็บอกว่า “เรา พอใจในความปรารถนาของท่าน”
นกก็เลยบอกว่า “ทำไมท่านจึงมีความพอใจแตกต่างกัน”
รุกขเทวดาก็บอกว่า “เราเห็นคุณค่าของความ รัก”
อีกองค์บอก “เราเห็น คุณค่าของความเพียรเป็นยิ่ง”
อีกองค์บอกว่า “เราเห็นคุณค่าในความอดทน”
นกก็เลยพูดกลับไปว่า “ท่าน ผู้เจริญ สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นเพราะการพรรณนาความดีเท่านั้นนะ มันต้องเกิดจากการที่ได้กระทำด้วยหัวใจแท้ ๆ จึงจะได้รับถึงความรู้สึกอิ่มเอิบเช่นเรา”
แล้วรุกขเทวดาก็ยกมือสาธุ ๆ นกก็คิดว่าเราจะอยู่ในร่างของนกไปได้อีกนานแค่ไหนก็ช่างเถอะ แต่ ณ เวลานี้เราพอใจแล้ว มันดื่มด่ำในสมาธิที่เกิดจากธรรมที่เกิดขึ้นกับเรา เรียกว่า ทรงอยู่ในโพชฌงค์ ๗ ประการ นกนะ อย่าดูถูกนกนะ นกนี่ทรงโพชฌงค์เลยนะ มีอะไรบ้างรู้มั้ย?





โพชฌงค์ คือองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการเหล่านี้คือ
  1. สติ ความระลึกได้
  2. ธรรมวิจยะ ความใคร่ครวญในธรรม
  3. วิริยะ ความเพียร
  4. ปิติ ความอิ่มใจ
  5. ปัสสัทธิ ความสงบ
  6. สมาธิ ความตั้งมั่น และ
  7. อุเบกขา ความวางเฉย
นกเค้าก็ทรงอยู่ในโพชฌงค์ ๗ ประการ เป็นสมาธิจนถึงอุเบกขา ตั้งอยู่ในฌาณ ๔ ทรงตัว สิ่งที่ทำให้เค้าเกิดความอิ่มใจ สติเค้าคำนึงอยู่แต่ในสัจธรรมที่เค้าได้พบ สองคือใคร่ครวญในธรรม แล้วเกิดความปิติชุ่มชื่นใจอิ่มเอิบ พอเกิดความชุ่มชื่นใจอิ่มเอิบแล้ว ปัสสัทธิก็เกิด พอมันสงบปุ๊บ ก็เกิดกลายเป็นสมาธิ พอเข้าสู่สมาธิปุ๊บ ก็เกิดการวางเฉยทุกอย่าง นิ่ง แยกกายแยกจิต พอเข้าสู่อุเบกขาธรรมปั๊บ ทรงเข้าสู่ฌาณ ๔ ละเอียดปุ๊บ จิตก็ไม่ถอนมานับแต่นั้นเป็นต้นมา เป็นอันว่าร่างนั้นจิตนั้น ก็แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง พอมาคลายสมาธิอีกที ก็อยู่ที่พรหมแล้ว
Posted by ruready on 22-10